Thursday, 9 May 2024
สถาพร บุญนาจเสวี

คดีอุกอาจ!! ใช้ 'อาคม' ลอบปลงพระชนม์เชื้อพระวงศ์ แต่มนตราสาปแช่ง มิเป็นผล จึงได้บทลงโทษแค่หลาบจำ

ความเชื่อเรื่องผี สาง เครื่องรางของขลัง โชคชะตา โดยเฉพาะ 'คาถาอาคม' เป็นของคู่บ้านเมืองเรามาอย่างช้านานแล้ว 

อย่างเวทมนตร์คาถาที่ถูกนำมาใช้ในด้านดี เช่น การใช้ในการป้องกันตัว การใช้คาถาอาคมประกอบการปรุงยารักษาโรค การใช้อาคมประกอบการไล่ภูตผีปีศาจโดยใช้หวายเสก (อันนี้มีบันทึกไว้ในจดหมายเหตุลาลูแบร์ในสมัยอยุธยาด้วย) การอาราธนาสิ่งศักดิสิทธิ์เพื่อปลุกขวัญกำลังใจอย่างการตัดไม้ข่มนามก่อนออกรบซึ่งปรากฏในการณ์ต่าง ๆ 

นอกจากนี้ ก็ยังมีสำหรับใช้เพื่อปากท้องของประชาชนทางด้านการเกษตร อย่างการขอฝน โดยตามบันทึกคำให้การของชาวกรุงเก่าที่ระบุว่า เกิดขึ้นในสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาคือ ในช่วงนั้นเกิดภาวะฝนแล้ง ชาวบ้านทำนาไม่ได้ผล เชื่อกันว่าเทวดาเบื้องบนเป็นเหตุให้เกิดฝนแล้ง พระองค์จึงรับสั่งให้พระเถระชั้นผู้ใหญ่ 2 รูป เป็นผู้ประกอบพิธีกรรมเพื่อแก้ไข ซึ่งในบันทึกก็ระบุว่ามีฝนตกลงมาจริง 

เมื่อมีด้านดี ก็ต้องมีด้านไม่ดี อย่างที่เราเรียกกันว่า 'มนต์ดำ' ซึ่งนำมาใช้ในด้านร้ายเช่น การสาปแช่ง การฝังรูปฝังรอย การทำเสน่ห์ยาแฝด การใช้ยาสั่งเพื่อให้เกิดผลตามต้องการไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง หรือหนักที่สุดก็คือการใช้ยาสั่งเพื่อ 'ฆ่า' 

ด้วยเหตุนี้ประเทศของเราถึงมี 'กรมแพทยา' ซึ่งมี 'ผู้เชี่ยวชาญทางวิทยาคม' เพื่อรักษาโรคที่เกิดจากอาคมหรือมนต์ดำ ทั้งยังเป็นตุลาการสำหรับไต่สวนคดีที่เกี่ยวข้องกับคุณไสยต่าง ๆ โดย 'ศาลหรือตุลาการกรมแพทยา' ซึ่งมีการอ้างกันว่ามีกรมนี้มาตั้งแต่สมัยพระเจ้าทรงธรรม แต่จะมีมาตั้งแต่สมัยนั้นหรือไม่ แต่จากข้อมูลในพระธรรมนูญที่รวบรวมการประทับฟ้องต่าง ๆ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายตราสามดวง ที่ตราขึ้นในรัชสมัยของพระเอกาทศรถเมื่อ พ.ศ.2165 มีการระบุถึงการฟ้องร้องกันด้วยเรื่องไสยศาสตร์โดยมีกฎหมายสำหรับรองรับเมื่อมีกรณีดังกล่าวเกิดขึ้นด้วย

'กรมแพทยา' นี้ถูกลดบทบาทและอำนาจลงตั้งแต่ในรัชสมัยรัชกาลที่ 3 มาจนถึงในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 เกิดการปฏิรูปหลายอย่างในแผ่นดิน ซึ่งกรมแพทยาก็ถูกยุบลงเพราะถูกมองว่าล้าหลัง ไม่ทันสมัย 

แต่ในช่วงก่อนการปฏิรูปก็มีคดีที่น่าสนใจในเรื่องการใช้ 'มนต์ดำ' ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ใหญ่โตระดับการลอบปลงพระชนม์พระราชวงศ์ชั้นสูงเลยทีเดียว แต่สุดท้ายคดีนี้ก็กลายเป็นคดีด้านคาถาอาคมที่ไม่เกิดผลและน่าจะเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ 'กรมแพทยา' ถูกยุบไปในที่สุด

เรื่องของเรื่องเป็นแบบนี้ครับ ในปี พ.ศ. 2419 มีคนคิดจะใช้อาคมทำร้าย 'สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์' ผู้สำเร็จราชการในพระราชสำนัก โดยเจ้าอาคมมีชื่อว่า 'เกษ'

ส่วนนาย 'เกษ' จะก่อเหตุด้วยการขุ่นเคืองใดไม่มีปรากฏในบันทึก เพราะเป็นเพียงขั้นพยายามแต่ยังไม่ถึงขั้นลงมือก็โดนจับไปขังคุกเสียก่อน แต่ทว่าแม้อยู่ในคุกเขาก็ไม่ได้มีความสำนึกยังคงเดินหน้าปั้นหุ่นรูปสมเด็จฯ เสกเป่า สาปแช่ง ด้วยมนต์ดำทั้งหลายเพื่อหวังจะฆ่าพระองค์ให้ได้ด้วยอาคมร้าย ทั้งยังได้รับเสียงเชียร์จากคนโทษร่วมคุกอื่น ๆ อีกด้วย 

ซึ่งคดีนี้ถูกนำความขึ้นกราบบังคมทูลในหลวงรัชกาลที่ 5 ซึ่งพระองค์ทรงวิตกห่วงใยในความปลอดภัยของสมเด็จฯ กรมพระยาบำราบปรปักษ์ จึงทรงมีพระราชหัตถเลขาถึง 'พระยามหามนตรี' (อ่ำ อมรานนท์) ความว่า...

"ถึง พระยามหามนตรี ด้วยอ้ายเกษที่ไปจำไว้ ณ คุกนั้น กลับทำเล่ห์กลเวทมนตร์ปั้นรูปสมเด็จฯ เสกเป่าต่างๆ นั้น ได้สั่งให้พระพิเรนทร์ให้ไปชำระเอาความได้ในเวลาพรุ่งนี้ แต่อ้ายคนนี้เห็นจะต้องตายเสียหรืออย่างไรให้สูญเสียทีเดียว ถ้ายังอยู่ก็จะเป็นข้อพยาบาทสมเด็จฯ ต่อไปไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร แต่บัดนี้ความวิตกนัก ด้วยเกิดความขึ้นดังนี้ ไม่รู้ว่าพ่อแม่พวกพ้องมันจะคิดร้ายอย่างไรกับสมเด็จฯ ถ้ามีเหตุการณ์สมเด็จฯ เป็นอย่างไรลงแลข้าก็เหมือนแขนขาดตาบอดเป็นสิ้นตัว..... 

"ให้พระยามหามนตรี คิดอ่านรักษาสมเด็จฯ ในเวลานี้อย่าให้มีอันตรายได้ แล้วให้ไปพร้อมด้วยพระพิเรนทรเทพชำระเอาต้นเหตุุความคิดให้สิ้นเชิง ให้ได้เร็วในพรุ่งนี้มะรืนนี้จะได้ให้พระยามหามนตรีมาเฝ้าท่าน วางการไว้ในเวลาค่ำวันนี้ให้เรียบร้อย ถ้ามีเหตุภายนอก พระยามหามนตรีจะต้องเป็นโทษ"....

นอกจากนี้พระพุทธเจ้าหลวงยังทรงมีพระราชหัตถเลขาไปถึง สมเด็จฯ กรมพระยาบำราบปรปักษ์ ความว่า...

"ทูลฯ ท่านให้ทราบ ด้วยอ้ายคนนี้มันยังคิดการทำร้ายอยู่เสมอเห็นจะเอาไว้ไม่ได้ต้องตายเสีย ได้สั่งให้พระยามหามนตรีกับพระพิเรนทร์ไปชำระความเอาความจริงให้ได้ในพรุ่งนี้ แต่หม่อมฉันมีความวิตกที่พระองค์ท่านมากนัก ด้วยมันคิดร้ายด้วยเวทมนต์ไม่สำเร็จจะเล่นตรง ๆ ได้สั่งพระยามหามนตรีให้มาคิดระแวดระวัง แต่การภายในสำคัญมากนักขอให้ท่านรักษาพระองค์ให้จงมาก..."

ในเหตุการณ์นี้ แม้ว่าทั้งล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 และสมเด็จฯ กรมพระยาบำราบปรปักษ์ จะทรงมีพระราชอำนาจประหารชีวิตคนได้และทรงเห็นว่านาย 'เกษ' สมควรตาย แต่ในที่สุดก็ทรงวินิจฉัยคดีนี้ว่า...

"ซึ่งอ้ายเกษคบคิดกับอ้ายขุนคนโทษด้วยกัน ปั้นรูปสมเด็จฯ กระหม่อมฉัน ให้อ้ายทรัพย์ อ้ายขำ เอาไปฝังป่าช้าทำเวทมนตร์ต่าง ๆ ดังนี้ อ้ายเกษ อ้ายขุน อ้ายทรัพย์ อ้ายขำ ทาสผู้รู้เห็นมีความผิดให้เฆี่ยนอ้ายเกษ อ้ายขุนคนละ 60 ที แล้วจำคุกให้หมั้น อย่าให้เที่ยวไปมาได้ แลให้เฆี่ยนอ้ายทรัพย์ อ้ายขำ คนละ 30 ที เอาตัวจำคุกไว้ปีหนึ่งจึงพ้นโทษ"

โดยรวมก็ถือว่าเป็นโทษที่ไม่หนักทั้ง ๆ ที่เป็นการอาฆาตมาดร้ายเชื้อพระวงศ์ชั้นสูง แต่สุดท้ายจอมขมังเวทย์และทีมงานก็รอด อาจเพราะทำมนตราสาปแช่ง อย่างไรก็ไม่เป็นผลจริง

(อ้างอิงข้อมูลจาก 'หนังสือมิติลี้ลับในพงศาวดาร' โดย โรม บุนนาค) 

ย้อนประวัติศาสตร์ 'สงกรานต์' ในแต่ละชาติ ปรับไปบ้างตามเวลา แต่สุขสันต์มิเคยเปลี่ยน

ขอต้อนรับทุกท่านเข้าสู่เทศกาลสงกรานต์ ปีใหม่ไทยของเรา สงกรานต์ที่ 'ยูเนสโก' ได้ประกาศขึ้นทะเบียนให้ 'สงกรานต์ในประเทศไทย' เป็นรายการในบัญชีตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ 

บทความนี้ผมจะเขียนเล่าในมุมที่ไม่ดรามา โดยจะเรียบเรียงเรื่องราวของสงกรานต์ที่น่าสนใจเพื่อให้อ่านกันเพลิน ๆ นะครับ

เริ่มต้นเรื่อง โดยส่วนตัวผมไม่เชื่อว่าสงกรานต์แบบบ้านเรามาจากอินเดีย แต่คำว่าสงกรานต์เรายืมคำนี้มาจากอินเดียแน่ ๆ เพราะคำว่า 'สงกรานต์' หรือ 'สํกฺรานฺติ' เป็นคำในภาษาสันสกฤตแปลว่า ผ่านหรือเคลื่อนย้าย คือการที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนจากราศีหนึ่งเข้าสู่อีกราศีหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นทุกเดือน แต่จะมีเดือนที่สำคัญมากก็คือเดือนที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ เรียกว่า 'มหาสงกรานต์' ซึ่งในช่วงมหาสงกรานต์นี้ ดินแดนชมพูทวีปเขาจะมีเมนูอาหารและกิจกรรมพิเศษ เช่น...

บังกลาเทศ : เขาจะมีการเดินพาเหรดและเมนูพิเศษ 'ปันตาภัต' คือข้าวสวยแช่น้ำที่เสิร์ฟพร้อมปลาทอด กินพร้อมหอมแดงและพริกเขียว คล้าย ๆ ข้าวแช่บ้านเรา 

ศรีลังกา : ชาวพุทธสิงหลและชาวฮินดูทมิฬ จะมีการฉลองปีใหม่ร่วมกัน ผู้คนจะทำความสะอาดบ้าน จุดตะเกียงน้ำมัน และทานเมนูพิเศษ 'คิริภัต' คือข้าวกะทิ 

ส่วนในอุษาคเนย์ : ประเพณีสงกรานต์ในแต่ละแห่งก็จะพบว่ามีความคล้ายคลึงกันอย่างมาก เช่น คนในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาเรียกกันว่า 'สงกรานต์' ทางล้านนาเรียกว่า 'ปี๋ใหม่เมือง' ทางเขมรเรียกว่า 'ซ็องกราน' ส่วนมอญเรียกว่า 'ซงกราน' ทางพม่าเรียกว่า 'ทิงยัน' โดยจุดเชื่อมกันของเทศกาลนี้ ถ้าไม่นับการสาดน้ำ ก็จะมีการรดน้ำประแป้ง การละเล่นพื้นบ้าน การรดน้ำดำหัวขอพรจากผู้ใหญ่ ทำบุญตักบาตร สรงน้ำพระพุทธรูป นอกจากนี้ก็จะมีรายละเอียดปลีกย่อยแตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาค ส่วนเรื่องอาหารการกินหรือกิจกรรมที่พิเศษเหมือนชมพูทวีปไหม? มันก็มีอยู่บ้างครับ 

ตัวอย่างเช่นที่ 'พม่า' เขาจะมีเมนูพิเศษคือ 'ม่งโลงเหย่ป่อ' ซึ่งเป็นข้าวเหนียวปั้นไส้น้ำตาล คล้าย ๆ ขนมต้มบ้านเรา ทำกินเฉพาะเทศกาลนี้ พร้อมด้วยมหกรรมสาดน้ำ (ต้องเรียกมหกรรมเพราะสาดยับจริง ๆ) ซึ่งพม่านี้เขามีนิทานเรื่องการสาดน้ำที่ค่อนข้างจะเป็นโศกนาฏกรรม แต่เขาเชื่อว่านี่คือหลักฐานการ 'สาดน้ำ' ที่เก่าที่สุด (ทำไม? มันถึงมาผูกกับการสาดน้ำที่สนุกสนานก็ไม่รู้) 

เรื่องนี้ปรากฏอยู่ในพงศาวดารพม่าฉบับอูกะลา ในสมัยของ 'พระเจ้านรสีหบดี' หรือ 'พระเจ้าหนีจีน' แห่งพุกาม ที่ชื่อว่าหนีจีน เพราะกองทัพมองโกลของพระเจ้ากุบไลข่านยกมาตีพุกาม พระองค์ต้านไม่ไหวก็เลยหนีลงมาทางพม่าตอนล่าง ซึ่งร่วมสมัยกับ 'พญามังราย' แห่งเชียงใหม่ 'พ่อขุนรามคำแหง' แห่งสุโขทัย และ 'พระยางำเมือง' แห่งพะเยา ซึ่งไม่ได้มีบันทึกเรื่องสงกรานต์ไว้เหมือนพุกาม เรื่องของเรื่องเป็นอย่างนี้ 

พระเจ้านรสีหบดีมีพระเหสีชื่อ 'พระนางพวาซอ' และมีพระสนมอีกหลายองค์ พระสนมที่โดดเด่นคือ 'พระสนมซอลง' และ 'พระสนมซอเม่า' ทุก ๆ สงกรานต์ซึ่งเป็นฤดูเดือนที่อากาศร้อน พระองค์มักเสด็จฯ ลงสรงพระกระยาสนานหรือสระผม บริเวณท่าน้ำเป็นเวลานาน ๆ บ่อย ๆ 

ที่นี้พะองค์คงนึกสนุกและอยากจะหยอกล้อ 'พระสนมซอลง' จึงรับสั่งให้พระสนมองค์อื่น ๆ และนางข้าหลวงสาดน้ำใส่พระสนมซอลงแบบไม่ให้รู้ตัว พอโดนรุมสาดแบบไม่ทันตั้งตัว ผมเผ้าเสื้อผ้าก็เปียกปอนไปหมด จนทำให้พระสนมซอลงรู้สึกอับอาย โดยไม่ได้คิดว่านี่คือการล้อเล่นสาดน้ำในหมู่คนที่คุ้นเคยกัน 

จากเหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้พระสนมซอลงคิดแค้น ว่าพระเจ้านรสีหบดีออกอุบายกลั่นแกล้ง จึงคิดจะเอาคืน โดยแอบใส่ยาพิษลงไปในพระกระยาหารของพระเจ้านรสีหบดี (คุณพระ!!!) ซึ่งปกติแล้วหน้าที่ยกพระยาหารขึ้นถวายพระเจ้านรสีหบดีเป็นหน้าที่ของพระสนมซอลง แต่วันนั้นพระสนมซอลงแกล้งป่วย จึงขอร้องให้ 'พระสนมซอเม่า' ทำหน้าที่แทน

ระหว่างที่กำลังเชิญพระกระยาหารขึ้นถวายนั้น ปรากฏว่ามีสุนัขหลวงทรงเลี้ยงตามเห่าพระสนมซอเม่า พระสนมซอเม่าคิดว่ามันคงหิว ด้วยความสงสารจึงแอบนำอาหารบางส่วนโยนให้กิน พอสุนัขหลวงกินมันก็ตายทันที พอความทราบถึงพระเจ้านรสีหบดี พระองค์จึงให้สอบสวน จนได้ความตามจริงว่าพระสนมซอลงลอบวางยาพิษ ผลก็คือ 'พระสนมซอลง' ต้องโทษประหารชีวิต ทั้งหมดนี้เป็นความเข้าใจผิดของพระสนมนั่นเอง

จบแบบโศกนาฏกรรม 

แต่ในประวัติสงกรานต์พม่า ที่มาของการเล่นสาดน้ำในปัจจุบันที่เก่าแก่ที่สุดก็คือการสาดน้ำใส่ 'พระสนมซอลง' นี่แหละ ทั้งยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนังสมัยพุกามที่เล่าเรื่องราวของการเล่นน้ำสงกรานต์ มีภาพของการเทน้ำจากหม้อน้ำราดใส่กันประกอบอีกด้วย ผมว่ายอมพม่าเขาไปเหอะ นี่ยังไม่รวมภาพใน The Graphic เมื่อ ค.ศ. 1888 ที่ปรากฏคนพม่าสาดน้ำใส่ฝรั่งอังกฤษนะ ซึ่งอันนี้เขาดรามากันไปเยอะแล้ว ผมไม่เล่าล่ะ 

'สงกรานต์พม่า' จัดขึ้นช่วงเดือน 5 (เมษายน) ของไทย พม่าเรียกว่า 'เดือนดะกู' ส่วนสงกรานต์ในภาษาพม่าเรียกว่า 'เหย่บะแวด่อ' (คำว่า 'เหย่' แปลว่า 'พิธีน้ำ' ส่วน 'บะแวด่อ' แปลว่า 'เทศกาล') รัฐบาลพม่ากำหนดประเพณีสงกรานต์ให้ตรงกับวันที่ 13-17 เมษายนของทุกปี ซึ่งสงกรานต์บ้านเขานี้จัดอย่างจริงจัง สาดกันจริงจังแบบไม่มีคำว่า 'ไม่เปียก'

มาที่ 'สงกรานต์ลาว' ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 14-16 เมษายนของทุกปี โดยออกเป็น 3 วัน วันแรกเรียกว่า 'วันสังขารล่วง' ชาวบ้านจะทำความสะอาดบ้านเรือนเพื่อเป็นการปัดเป่าสิ่งไม่ดีออกไปและเตรียมรับสิ่งใหม่ ๆ เข้ามา วันที่สองเรียกว่า 'วันเนา' ถือเป็นวันแห่งครอบครัว ญาติพี่น้องจะมารวมตัวกันเพื่อบายศรีสู่ขวัญให้แก่ผู้อาวุโส และวันสุดท้ายเรียกว่า 'วันสังขารขึ้น' ถือว่าเป็นวันปีใหม่ที่แท้จริง จะมีการอวยชัยให้พรซึ่งกันและกัน มีการสรงน้ำพระและการแห่นางสังขาร ซึ่งเป็นนางสงกรานต์ของลาวแล้วก็มีการสาดน้ำกันพอกรุบกริบ 

'สงกรานต์กัมพูชา' ถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ของชาวกัมพูชาเรียกกันว่าเทศกาล “โจลชนัมทเมย” เป็นช่วงต้นฤดูกาลเก็บเกี่ยว ในแต่ละปีรัฐบาลกัมพูชาอาจจะกำหนดให้จัดขึ้นในวันที่ 13-15 หรือ 14-16 เมษายน มีกิจกรรมคล้าย ๆ กันแบ่งงานสงกรานต์ออกเป็น 3 วัน วันแรกทำบุญตักบาตร มีการขนทรายเข้าวัดเพื่อเตรียมก่อพระเจดีย์ทราย วันที่สองเป็นวันของครอบครัว ช่วงค่ำก็จะมาร่วมกันก่อพระเจดีย์ทราย ส่วนในวันที่สาม จะมีการละเล่นรื่นเริงต่าง ๆ สรงน้ำพระพุทธรูป และรดน้ำดำหัวญาติผู้ใหญ่เพื่อความเป็นสิริมงคล 

'สงกรานต์สิบสองปันนา' สงกรานต์ของชาวไต หรือชาวไท ในสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน ทางตอนใต้ของประเทศจีน โดยเฉพาะเมืองเชียงรุ่ง จะจัดงานสงกรานต์ในช่วงวันที่ 13-15 เมษายน เรียกว่าเทศกาล 'พัวสุ่ยเจี๋ย' โดยกิจกรรมหลัก ๆ ที่มีในงานสงกรานต์สิบสองปันนาก็คือ 'การแข่งขันเรือมังกร' ซึ่งเป็นเอกลักษณ์สำคัญของเทศกาลนี้ นอกจากนี้ก็จะมีการ 'ระบำนกยูง' ที่มีความเชื่อว่านกยูงนำพาความโชคดีมาให้ นอกจากนี้ก็ยังมีการร้องรำทำเพลง การเล่นน้ำ และการรดน้ำดำหัวให้กันและกัน 

'สงกรานต์ของประเทศไทย' แม้ว่าเราอาจจะไม่ได้มีบันทึกการเล่นสาดน้ำเหมือนอย่างของพม่า แต่เทศกาลของเราก็มีความลุ่มลึกอย่างมีนัยยะสำคัญทั้งผูกพันกับการรำลึกถึงบรรพบุรุษ ครอบครัว ด้วยความชุ่มฉ่ำทั้งการสรงน้ำพระ การรดน้ำดำหัว และธรรมเนียมประกอบที่ดีงามไม่แพ้ใคร ๆ อย่างเช่น... 

ภาคเหนือเรามีพิธีความเชื่อเรื่อง 'ปู่สังกรานต์' หรือ 'ย่าสังกรานต์' จึงเป็นเหตุแห่งการจุดประทัดไล่เคราะห์ นอกจากนี้บางแห่งจะมีการทำขนมที่ไว้เฉลิมฉลองสงกรานต์ คือกาละแม ข้าวเหนียวแดงใส่ถั่วลิสงคั่ว ข้าวเหนียวแก้ว ข้าวแตน นางเล็ด ไปถวายวัด เพื่อไปเป็นเสบียงส่งไปให้บรรพบุรุษ 

ภาคอีสาน เราก็มีพิธีเสียเคราะห์ที่ใช้กระทงห้อง ใส่อาหารคาว-หวาน ไปทำพิธีในวัดเมือจบจะนำกระทงไปไว้ในป่าหรือทางแพร่งเพื่อเซ่นผีนำเอาสิ่งไม่ดีออกจากตน ตัวอย่างเช่น วัดไชยศรี จ.ขอนแก่น มีการทำบุญอัฐิบรรพบุรุษที่ล่วงลับ เรียกว่า 'สักอนิจจา' มีการ 'แห่ต้นดอกไม้' ที่นาแห้ว จ.เลย ซึ่งทำถวายเป็นพุทธบูชาเพื่อความเป็นมงคลและสร้างความสามัคคีคนในชุมชน (เห็นไหม? สาดน้ำใส่กันมันแค่ส่วนประกอบ) 

ภาคกลางส่วนใหญ่มักประกอบกิจกรรมทางศาสนาเป็นหลัก นอกจากนั้นก็จะมีงานที่เป็นเอกลักษณ์อย่าง สงกรานต์มอญ ที่ยังรักษาวัฒนธรรมของชาวรามัญ-ไทย ไว้อย่างงดงาม ทั้งที่ปากเกร็ด จ.นนทบุรี บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร หรืออย่างที่พระประแดง จ.สมุทรปราการ 

ภาคใต้บ้านเราจะเรียกว่า 'วันว่าง' ไม่ทำงาน ไม่ตัดเล็บ ตัดผม ก่อนจะเข้าวัดในวันว่างนี้เพราะเชื่อว่าเทวดาองค์เก่าเมื่อปีก่อนไม่อยู่ จึงต้องพึ่งบารมีพระพุทธก่อนที่วันเถลิงศกจะเข้ามาพร้อมเทวดาองค์ใหม่ก็จะมาประจำเมือง โดยจะแต่งชุดสวย ชุดใหม่ รอรับกันในวันนี้ 

ถึงตรงนี้ที่สงกรานต์คือ กิจกรรมสำคัญที่ผมอยากจะชวนให้ท่านผู้อ่านทุก ๆ ท่านไปค้นหาและสัมผัสความดีงามเหล่านั้นด้วยตัวของท่านเอง ซึ่งผมเชื่อว่าแม้ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมจะทำให้ประเพณีสงกรานต์เปลี่ยนแปลงไปบ้าง แต่ความเป็นเทศกาลแห่งการเฉลิมฉลองการเปลี่ยนผ่านของปี ความรื่นเริงสนุกสนานและการระลึกถึงบรรพบุรุษ ครอบครัว ผู้หลักผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ จะยังคงเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่และสืบทอดต่อไปอีกนานเท่านาน สุขสันต์วันสงกรานต์นะครับ

'ฟุตบอล' กีฬาแห่งการรวมใจคนทั้งชาติ  วิวัฒนาการพันปีที่มีจุดเริ่มจากแดนมังกร

หากพูดถึงกีฬาที่คนทั้งโลกนิยมทั้งเล่นและชม กีฬาประเภทนั้นคงไม่พ้นกีฬา 'ฟุตบอล' ซึ่งเป็นกีฬาเก่าแก่ชนิดหนึ่งของโลก เก่าแก่ขนาดไหน และมาอยู่ในประเทศไทยได้อย่างไร ผมพอจะเรียบเรียงเรื่องให้อ่านกันเพลิน ๆ ได้แบบนี้ 

พอนึกถึงต้นกำเนิดกีฬาฟุตบอล เราคงจะนึกถึงประเทศอังกฤษ ประเทศที่มีทีมฟุตบอลยอดนิยมอยู่หลายต่อหลายทีม แต่คุณรู้ไหม? จุดกำเนิดของฟุตบอลมันกลับมาจากกีฬาที่เล่นกันในประเทศจีนเมื่อตั้งแต่ประมาณ ๒,๖๐๐ ปีก่อนคริสตกาล 

กีฬาโบราณของจีนที่เชื่อว่ามันคือต้นกำเนิดของฟุตบอลมีชื่อเรียกว่า 'ชู่จีว์' (蹴鞠) จากบันทึก 'สื่อจี้' ของ 'ซือหม่าเชียน' ผู้บันทึกประวัติศาสตร์จีนตั้งแต่สมัยหวงตี้ (จักรพรรดิเหลือง) มาจนถึงสมัยจักรพรรดิฮั่นอู่ตี้ (ราชวงศ์ฮั่นตะวันตก) ได้บันทึกไว้ว่า 'ชู่จีว์' เป็นกิจกรรมเพื่อการผ่อนคลายรูปแบบหนึ่งของประชาชนทั่วไปโดยมีกำเนิดราว ๕,๐๐๐ ปีก่อน ในสมัยก่อนเกิดจักรพรรดิ จากนั้นถูกนำเข้าไปสู่การเล่นเผื่อการผ่อนคลายของทหารในช่วงราว ๒,๕๐๐ ปีก่อนในยุคสงครามระหว่างแคว้นครั้งใหญ่ และมาได้รับความนิยมถึงขีดสุดในยุคราชวงศ์ฮั่น ในช่วง ๒๐๖ ปีก่อนคริสตกาล

'ชู่จีว์' (蹴鞠) มีความหมายตรงตัวว่า 'เตะบอล' โดยมักถูกนำไปเล่นในกองทัพเพื่อเป็นการฝึกทหาร ในสมัยราชวงศ์ฮั่นไปจนถึงยุคสามก๊กกีฬาประเภทนี้ถือว่าเป็นกีฬายอดนิยมเลยทีเดียว เพราะมีการสร้างสนามแข่งขันที่มีในค่ายทหารทุกแห่ง เรียกว่า 'จูซาง' เพื่อไว้ใช้แข่งขันโดยเฉพาะ โดยมีเสาประตูเป็นรูปพระจันทร์เสี้ยว และมีลูกบอลทำจากขนนก กติกาการแข่งขันก็จะคล้าย ๆ ฟุตบอลในปัจจุบันคือ แบ่งออกเป็น ๒ ฝ่าย มีผู้เล่นฝ่ายละ ๑๒ คน ห้ามใช้มือสัมผัสลูกบอล แต่ผู้เล่นสามารถกระแทกกัน กอดรัดฟัดเหวี่ยงกันได้ ชิงไหวชิงพริบ ชิงจังหวะเข้าทำประตู มีลักษณะคล้ายกับรักบี้ผสมฟุตบอล ฝ่ายไหนเตะบอลเข้าประตูของคู่แข่งได้มากกว่าฝ่ายนั้นก็คือผู้ชนะ 

ลูกบอลแบบขนนกถูกปรับมาเป็นลูกบอลหนังที่มีอากาศบรรจุไว้ภายในช่วงยุค 'ราชวงศ์ถัง' ซึ่งเป็นช่วงราชวงศ์ที่มีความเป็นปึกแผ่นสูง 'จูซาง' ได้ถูกสร้างไว้อย่างแพร่หลายในนครหลวง 'ฉางอัน' และมารุ่งเรืองถึงขีดสุดในช่วงสมัย 'ราชวงศ์ซ่ง' เพราะมีการแข่งขัน 'ชู่จีว์' ในรูปแบบ Tournament ซึ่งมีการเชียร์กันอย่างเอิกเกริกและเริ่มส่งต่อกีฬาประเภทนี้ไปยังประเทศอื่น ๆ ที่ได้เข้ามาค้าขายในประเทศจีน ณ ช่วงเวลานั้นอย่าง ญี่ปุ่น เกาหลี ไปจนถึงพ่อค้าชาวตะวันตก ซึ่งนักประวัติศาสตร์กีฬาสันนิษฐานว่า 'ชู่จีว์' น่าจะไปถึงยุโรปและพัฒนามาเป็นฟุตบอลในรูปแบบของประเทศอังกฤษในเวลาต่อมา 

จากหลักฐานยืนยันด้วยภาพวาดยุคโบราณ บันทึกและการค้นพบเหรียญบรอนซ์ที่แกะสลักเป็นรูป 'ชู่จีว์' ทำให้ ใน ค.ศ. ๒๐๐๔ การแถลงข่าวของงานมหกรรมฟุตบอลนานาชาติแห่งประเทศจีนครั้งที่ ๓ 'เซปป์ แบลตเตอร์' ประธานสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA) ในขณะนั้นได้ประกาศว่า 'จีนเป็นแหล่งกำเนิดของกีฬาฟุตบอล'

คราวนี้เราข้ามไปที่ฝั่งอังกฤษเพื่อรู้จักกับฟุตบอลที่แพร่หลายในปัจจุบันกันบ้าง โดยนักประวัติศาสตร์ระบุว่าคำว่า Football เกิดขึ้นโดย 'พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ ๒ แห่งอังกฤษ' เมื่อปี ค.ศ.๑๓๑๔ แต่คำว่า Football นี้กลับเป็นประกาศที่พระองค์ห้ามเล่นกีฬาประเภทนี้ !!! เพราะมันหนวกหูจากเสียงเชียร์และการตะโกนใส่กัน (งั้นก็แสดงว่าเขาเล่นกีฬาแย่งลูกบอลแบบนี้เล่นกันมาก่อนยุคของพระองค์แล้วสิ ???) 

ในยุคแรกกีฬาฟุตบอลของอังกฤษเริ่มต้นขึ้นในสถานศึกษาที่มีสนามหญ้า จนกระทั่งในวันที่ ๒๔ ตุลาคม ค.ศ. ๑๘๕๗ กลุ่มนักเรียนเก่าในเมืองเชฟฟีลด์ (Sheffield) รวมตัวกันก่อตั้ง 'สโมสรฟุตบอลเชฟฟีลด์” (Sheffield Football Club) ขึ้นเป็นสโมสรฟุตบอลแห่งแรกของอังกฤษและของโลก โดยมีการแข่งขันครั้งแรกระหว่าง 'สโมสรฟุตบอลเชฟฟีลด์' (Sheffield Football Club) กับ กับ 'สโมสรฟุตบอลฮัลลัม' (Hallam football club) ซึ่งอยู่ในเมืองเดียวกัน ในปี ค.ศ. ๑๘๖๒ 

แต่กระนั้นการแข่งขันฟุตบอลก็ยังมีกติกาสะเปะสะปะไปตามแต่ละพื้นที่แล้วแต่ใครจะยึดถือ เช่น กฎของเคมบริดจ์และกฎของเชฟฟีลด์ ซึ่งสร้างความสับสนให้กับผู้เล่น จนกระทั่ง FA ของอังกฤษถูกจัดตั้งขึ้นในปี ค.ศ. ๑๘๖๓ กฎและกติกาของฟุตบอลจึงเริ่มเป็นรูปธรรมจากการประชุมครั้งแรกในกรุงลอนดอน ซึ่งมีตัวแทนจาก ๑๒ สโมสรเข้าร่วม ซึ่งตัวตั้งตัวตีในการประชุมครั้งนั้นก็คือ 'อีเบเนเซอร์ โคบบ์ มอร์ลีย์' (Ebenezer Cobb Morley) ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็น 'บิดาของสมาคมฟุตบอลและฟุตบอลสมัยใหม่: ซึ่งกติกาและรูปแบบการเล่นฟุตบอลก็ได้พัฒนาขึ้นจากวันนั้นมาจนถึงปัจจุบัน 

โดยการแข่งขันรายการฟุตบอลแรกของอังกฤษและของโลกก็คือการแข่งขันที่ชื่อว่า FA Cup เมื่อ ค.ศ. ๑๘๗๒ ซึ่งเป็นการแข่งขันในรูปแบบแพ้ตกรอบ แต่กระนั้นก็เป็นการแข่งขันที่ทุกสโมสรตั้งตารอเพื่อเข้าแข่งขัน เพราะมันคือรายการที่สโมสรไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ ก็มีโอกาสเข้ารอบและตกรอบได้เหมือนกัน ก่อนที่จะเกิดระบบ League ที่มีการแข่งขันเพื่อเก็บสะสมคะแนนแล้วจัดลำดับในเวลาต่อมา

แล้วในประเทศไทยล่ะกีฬาฟุตบอลเข้ามายังไง ? และเริ่มขึ้นเมื่อไหร่ ? 

กีฬาฟุตบอลในไทยเริ่มต้นขึ้นในรัชสมัยของ 'พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว' รัชกาลที่ ๕ พระองค์ได้ส่งพระเจ้าลูกยาเธอ พระเจ้าหลานยาเธอ และข้าราชบริพารไปศึกษาวิชาการด้านต่าง ๆ ที่ประเทศอังกฤษ โดยหนึ่งในนั้นคือ 'ครูเทพ' เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เป็นผู้ที่นำกีฬาฟุตบอลกลับเข้ามาเล่นในประเทศไทยเป็นคนแรก ทั้งยังจัดการแข่งขันฟุตบอลรายการแรกของประเทศไทยระหว่าง 'ทีมชาวบริเตนบางกอก' กับ 'ทีมกรมศึกษาธิการ' ในปี พ.ศ. ๒๔๓๓ โดยใช้กติกาของ FA 

เมื่อเริ่มแรกกีฬาฟุตบอลถูกคัดค้านเป็นอย่างมากด้วยเหตุผลที่ว่า สยามเป็นเมืองอากาศร้อน ทั้งยังก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้เล่น และผู้ชมได้ง่าย ฯลฯ เอาว่าอะไรใหม่ ๆ ก็อย่างนี้แหละมักจะโดนค้านไว้ก่อน แต่หลังจากนั้นทุกคำครหาก็ค่อย ๆ เงียบไป เพราะ 'พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว' รัชกาลที่ ๖ ซึ่งทรงเป็นนักเรียนเก่าจากอังกฤษทรงจัดตั้ง 'สโมสรคณะฟุตบอลสยาม' ซึ่งมีพระองค์และพระบรมวงศานุวงศ์ ทรงลงแข่งขันเป็นผู้เล่นเอง ทั้งส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันระดับประเทศและระดับนานาชาติขึ้นเป็นครั้งแรกในรัชสมัยของพระองค์อีกด้วย โดยรายการนานาชาติรายการแรกของสยามระหว่าง 'ทีมชาติสยาม' กับ 'ทีมราชกรีฑาสโมสร' เกิดขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๕๘ 

จากนั้นในปี พ.ศ. ๒๔๕๙ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ก่อตั้งสมาคมฟุตบอลแห่งชาติสยามขึ้น โดยทรงรับเข้าอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ และมี 'เจ้าพระยารามราฆพ' (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ) เป็นนายกสมาคม ฯ คนแรก 

ในปลายปี พ.ศ. ๒๔๕๙ รัชกาลที่ ๖ พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ริเริ่มการแข่งขัน 'การแข่งขันฟุตบอลสำหรับพระราชทานถ้วยทองของหลวง' โดยถ้วยรางวัลทำด้วยทองคำแท้ขึ้น มี ๑๒ ทีมเข้าร่วม ได้แก่ นักเรียนนายร้อยทหารบก, นักเรียนนายเรือ, นักเรียนตำรวจภูธร, นักเรียนสารวัตร, กรมนักเรียนเสือป่าหลวง, เสือป่าเสนากลาง, เสือป่ากองพันพิเศษ รักษาพระองค์, กรมเสือป่าราบหลวง, กรมพรานหลวง, กรมเสือป่าม้าหลวง, กรมทหารมหาดเล็ก และกรมทหารรักษาวังซึ่งต่อมาการแข่งขันนี้จะรู้จักกันในชื่อฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานประเภท ก. 

เมื่อแข่งขันกันครบ ๒๙ นัด ผลปรากฏว่า 'สโมสรนักเรียนนายเรือ' ที่กล่าวกันว่า 'เสด็จเตี่ย' กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ อดีตนักฟุตบอลโรงเรียนนายเรือของประเทศอังกฤษ คือผู้นำกีฬาลูกหนังเข้าไปสู่รั้วโรงเรียนนายเรือ มีคะแนนเป็นอันดับที่ ๑ จากการลงสนามแบบพบกันหมด จึงได้ครองถ้วยทองของหลวงเป็นสโมสรแรก

จากฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานประเภท ก. ซึ่งเรียกว่า 'ถ้วยใหญ่' ในปี พ.ศ. ๒๔๕๙ เรายังมีการแข่งขันฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานระดับชั้นที่ ๒ ของประเทศไทย โดยจัดการแข่งขันครั้งแรกในปีเดียวกัน โดยสโมสรทหารราชวัลลภ ได้ตำแหน่งชนะเลิศในรายการนี้เป็นสโมสรแรก ซึ่งในขณะนั้นเรียกว่าการแข่งขันชิง 'ถ้วยน้อย' ก่อนที่การแข่งขันในประเทศไทยจะเกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย

จนในปี พ.ศ. ๒๕๐๕ ในรัชสมัยของ 'พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร' รัชกาลที่ ๙ สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ได้ขอพระราชทานถ้วยพระราชทานเพิ่มเติม คือ ฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานประเภท ค. และ ฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานประเภท ง. ทำให้ต้องมีการเปลี่ยนชื่อ 'ฟุตบอลถ้วยใหญ่' และ 'ฟุตบอลถ้วยน้อย' เป็น ฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานประเภท ก. และ ฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานประเภท ข.

ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๓๙ สมาคมฟุตบอลฯ ดำเนินการจัดแข่งขัน ฟุตบอลอาชีพในระบบลีกขึ้น โดยผ่านช่วงล้มลุกคลุกคลาน ปรับเปลี่ยน มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ก่อนจะลดบทบาท ลดทอนและพัฒนามาจนเป็นการแข่งขัน 'ไทยลีก' อย่างในปัจจุบัน

ที่เล่ามาทั้งหมดนี้เพียงแค่อยากจะเล่าให้ทุกท่านได้สัมผัสว่า 'ฟุตบอล' มันเป็นอะไรที่มากกว่ากีฬา มันมีแหล่งกำเนิดที่หลากหลายมากกว่าที่เราจะบันทึกสรุปได้ในบทความสั้น ๆ แต่กระนั้นผมก็เชื่อว่ากีฬาชนิดนี้ยังคงเดินหน้าและเติบโตต่อไป ทั้งในเรื่องผลประโยชน์ โอกาสทางเศรษฐกิจ โอกาสแห่งชีวิต ฯลฯ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น 'ฟุตบอล' คือกีฬาที่ช่วยรวมใจคนทั้งชาติได้ เป็น 'กีฬาที่เป็นมากกว่ากีฬา' ของจริง 

รู้จัก ‘สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ฯ’ จอมพล เจ้าฟ้า อัจฉริยะนักดนตรี ต้นสำเนาตำนาน ‘โหมโรง’

ไม่แน่ใจว่าคุณจำภาพจากภาพยนตร์อนิเมชันเรื่อง ‘2475 รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ’ ตอนหนึ่งได้หรือไม่? ตอนที่พระประศาสน์พิทยายุทธ (วัน ชูถิ่น) นำกำลังบุกเข้าไปใน ‘วังบางขุนพรหม’ ก่อนเข้าควบคุมตัว ‘สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต’ ผู้รักษาพระนคร โดยที่พระองค์ไม่ทรงเชื่อสายตาว่าคนที่ทรงใกล้ชิดและทรงมีบุญคุณอย่างมากมาก่อน

แต่เรื่องที่จะเล่าไม่ใช่เรื่องในปี พ.ศ. 2475 แต่จะเป็นเรื่องราวทางการดนตรีที่เกิดขึ้นใน ‘วังบางขุนพรหม’ และพระอัจฉริยภาพทางดนตรีของ ‘สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต’ ซึ่งไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าพระอัจฉริยภาพทางการด้านการทหารเลยแม้แต่น้อย ซึ่งได้เรียบเรียงมาเล่าสู่กันฟังแบบนี้ 

เริ่มตั้งแต่เมื่อพระองค์ทรงมีพระชนมายุได้ 8 พรรษา พระองค์ทรงเข้ารับการศึกษาตามแบบอย่างพระราชกุมารและพระราชกุมารีในสมัยนั้น โดยทรงศึกษาทั้งวิชาด้านภาษาทั้งไทยและอังกฤษ รวมไปถึงศิลปวิทยาในด้านต่าง ๆ เช่น การละคร การดนตรีไทย โดยเฉพาะดนตรีไทยพระองค์สามารถทรงซออู้ได้อย่างดีเยี่ยม ทั้งยังทรงเครื่องดนตรีอื่น ๆ ได้อย่างคล่องแคล่ว 

จนเมื่อ ‘ทูลกระหม่อมบริพัตร’ เสด็จ ฯ ไปทรงศึกษาต่อวิชาการทหารที่ประเทศเยอรมนี นอกจากวิชาทหารพระองค์ยังได้ทรงศึกษาวิชาโปรดของพระองค์นั่นก็คือ ‘ดนตรี’ โดยได้ทรงศึกษาการเล่นเปียโน การประสานเสียง การประพันธ์เพลง การเป็นวาทยากรควบคุมวงดนตรีขนาดใหญ่ เรียกว่าผลการเรียนทั้งในส่วนที่เป็นทหารก็ยอดและในส่วนของการดนตรีก็เยี่ยม 

พระองค์ทรงเคยเล่าเรื่องเกี่ยวกับความชอบทางดนตรี ประทานแก่ ‘พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอินทุรัตนา’ พระธิดาฟังว่า “…ถ้าพ่อเลือกได้ พ่อจะเรียนดนตรีและภาษา และจะทำงานด้านดนตรีอย่างเดียว แต่พ่อเลือกไม่ได้ เพราะพ่อบังเกิดมามียศตำแหน่ง ต้องทำงานให้ประเทศชาติ ทูลหม่อม (รัชกาลที่ 5) สั่งให้พ่อไปเรียนวิชาทหารเพื่อกลับมาปรับปรุงกองทัพไทย พ่อก็ไปเรียนวิชาทหาร บางครั้งพ่อเบื่อบางวิชาที่ต้องเรียนจนทนไม่ไหว ต้องเก็บพ็อกเก็ตมันนี่เอาแอบไปเรียนดนตรี แอบไปเรียนเพราะพวกผู้ใหญ่สมัยนั้นเห็นว่าวิชาดนตรีไม่เหมาะกับชายชาติทหาร เมื่อได้เรียนดนตรีที่พ่อรักก็สบายใจ เกิดความอดทนที่จะเรียนและทำงานที่พ่อเบื่อ…”

มาในปี พ.ศ. 2442 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้โปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมจัดซื้อที่ดินพระราชทานแก่ ‘ทูลกระหม่อมบริพัตร’ เพื่อใช้สร้างวังที่ประทับ หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2444 ในขณะที่ยังทรงศึกษาอยู่พระองค์ได้ทรงให้สร้างวังในรูปแบบเรอเนซองส์ผสมผสานกับลวดลายศิลปะแบบนีโอ-บารอก โดยเริ่มก่อสร้างจากตำหนักหอจากไม้เป็นประเดิม จนกระทั่งพระองค์ทรงศึกษาจบและนิวัติกลับสยามในปี พ.ศ. 2446 ซึ่งที่ตำหนักหอแห่งนี้เองที่ทูลกระหม่อมได้เริ่มทรงดนตรีไทย ก่อนที่วังจะแล้วเสร็จทั้งหมดในปี พ.ศ. 2449 ซึ่งที่ประทับแห่งนี้ก็คือ ‘วังบางขุนพรหม’ อันโอ่อ่า โดยเป็นสถานที่จัดงานต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง ใช้เป็นที่จัดงานสังสรรค์ของพระบรมวงศานุวงศ์ เป็นสถานศึกษาซึ่งเรียกกันในสมัยนั้นว่า ‘บางขุนพรหมยูนิเวอร์ซิตี้’ หรือ ‘บางขุนพรหมคอลเลจ’ และอีกหนึ่งความสำคัญของวังแห่งนี้ก็คือ ‘คอนเสิร์ตฮอลล์’ ห้องบันทึกเสียงและศูนย์การประชันวงดนตรี 

ย้อนกลับในปีพ.ศ. 2446 ‘ทูลกระหม่อมบริพัตร’ ได้เริ่มทรงดนตรีไทยอย่างจริงจัง โดยทรงรวบรวมมหาดเล็กเรือนนอกที่สามารถเล่นดนตรีไทยได้มาก่อตั้งเป็นวงพิณพาทย์ไม้แข็งของวังบางขุนพรหม จากการเริ่มวงที่รวบรวมมหาดเล็กมาต่อเพลง ไม่ช้าก็กลายเป็นวงที่อุดมไปไปด้วยนักดนตรีไทยชั้นยอดแห่งยุคอย่างด้วยการจัดการวงจากหลวงกัลยาณมิตตาวาส (ทับ พาทยโกศล) และนำการบรรเลงโดยจางวางทั่ว พาทยโกศล นอกจากวงปี่พาทย์พระองค์ก็ยังทรงตั้งวงเครื่องสายที่ทรงบรรเลงร่วมกับพระญาติและผู้ใกล้ชิดอีกด้วย 

สำหรับยุคนั้น ‘วังบางขุนพรหม’ คือสถานที่สำคัญแห่งการประลองทางดนตรี โดยมีวงดัง ๆ นอกไปจาก วงปี่พาทย์วังบางขุนพรหมที่นำโดย ‘จางวางทั่ว พาทยโกศล’ ก็จะมีวงอย่างเช่น วงปี่พาทย์วังบูรพานำโดย ‘จางวางศร’ (หลวงประดิษฐ์ไพเราะ) วงสมเด็จพระบรมฯ (เมื่อครั้งที่ในหลวงรัชกาลที่ 6 ทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น ‘สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ’) นำโดย ‘นายโสม’ (พระเพลงไพเราะ) วงพระองค์เพ็ญ (กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม) นำโดย นายขลิบ ชำนิราชกิจ เป็นต้น ซึ่งบรรยากาศในการประชันก็จำลองมาอยู่ในภาพยนตร์เรื่อง ‘โหมโรง’ ซึ่งท่านผู้อ่านลองไปหาชมกันได้ โดย ‘ทูลกระหม่อมบริพัตร’ ก็เป็นพระองค์แรกในการทดลองบันทึกเสียงทั้งการประชัน การบรรเลงต่าง ๆ ไว้ในแผ่นครั่ง ตั้งแต่ในครั้งกระนู้น ซึ่งถ้าวงใดได้มาบรรเลงหรือประชัน ณ วังบางขุนพรหมแม้จะไม่ชนะ แต่ก็มีชื่อเสียงกลับไปว่าได้มาแสดง ณ วังแห่งนี้แล้ว

จากดนตรีไทยมาสู่ดนตรีสากล จริง ๆ แล้วทูลกระหม่อมบริพัตรทรงเริ่มนิพนธ์เพลงไทยสากลก่อนเพลงไทยเดิม แม้ว่าพระองค์จะทรงตั้งวงปี่พาทย์ขึ้นก่อน เอ้า !!! ทำไมเป็นอย่างนั้นล่ะ ? 

เรื่องของเรื่อง ‘กรมพระนครสวรรค์วรพินิต’ ในขณะที่ทรงเป็นผู้บัญชาการกรมทหารเรือ พระองค์ได้ทรงนิพนธ์ทำนองเพลงตามมาตรฐานและหลักเกณฑ์ของดนตรีสากล สำหรับบรรเลงด้วยแตรวงโดยเฉพาะขึ้นเป็นครั้งแรกในสยาม เพลงนั้นก็คือเพลง ‘วอลซ์ปลื้มจิต’ ซึ่งถือว่าเป็นเพลงไทยสากลเพลงแรกในประวัติศาสตร์การดนตรีของประเทศไทย โดยเพลงพระนิพนธ์ในชุดแรกที่เรียกว่าเพลงฝรั่งแท้ ๆ นอกจากวอลซ์ปลื้มจิตแล้วก็จะมีอีก 4 เพลงคือ เพลงวอลซ์ประชุมพล เพลงวอลซ์โนรี เพลงมณฑาทอง และ เพลงมาร์ชบริพัตร ทั้ง 5 เพลงนี้ ในปัจจุบันพบเพียงแค่ 4 เพลง เพลงที่หายไปก็คือ ‘เพลงวอลซ์โนรี’ ซึ่งเพลงวอลซ์โนรีนี้เป็นเพลงที่ทรงนิพนธ์ประทานให้แก่เจ้าหญิงโนรี แห่งประเทศสวีเดน เมื่อครั้งที่เจ้าหญิงโนรีเสด็จมาในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6

จากเพลงแบบสากล พระองค์ยังทรงนำเพลงไทยแท้ ๆ  มาเรียบเรียงเสียงประสานแบบสากล จนกลายเป็นเพลงไทยทำนองฝรั่ง โดยเพลงที่เราคุ้นเคยก็คงเป็นเพลง ‘มหาฤกษ์ มหาชัย’ กับเพลงอื่น ๆ อาทิ เพลงสรรเสริญเสือป่า เพลงสาครลั่น และเพลงที่มีความลุ่มลึก คำนึง ถึงคนที่จากไปไกลอย่าง ‘เพลงพญาโศก’ ซึ่งนำไปบรรเลงโดยทั่วไป 

นอกจากนี้พระองค์ยังทรงนิพนธ์เพลงไทยแท้ ๆ สำเนียงแบบไทย เรียบเรียงแบบไทยแต่เอามาเล่นในแตรวง โดยทรงทำไว้เป็นโน้ตรวมฉบับรวมทั้งวง (Score) ทั้งหมด 20 เพลง ตัวอย่างเช่น เพลงแขกมอญบางขุนพรหม (เพลงนี้เมื่อแรกเริ่มทรงนิพนธ์เป็นเพลงสำหรับวงโยธวาทิตก่อนแล้วจึงปรับปรุงเป็นทางพิณพาทย์ในเวลาต่อมา ชื่อบางขุนพรหมแต่พระองค์ทรงแต่งเพลงนี้ที่พระราชวังบ้านปืน จังหวัดเพชรบุรี ) เพลงเขมรพวงสามชั้น เพลงเขมรชมจันทร์ เพลงถอนสมอ เพลงบุหลันชกมวย ฯลฯ 

โดยทั้ง 20 เพลง ทูลกระหม่อมบริพัตรได้ได้ทรงประพันธ์ขึ้นใหม่ทั้งหมด ทรงทำทางเป็นเพลงสำหรับแตรวงหรือวงโยธวาทิต แต่ทรงยึดแนวเพลงของเก่าเป็นพื้น แล้วก็ดัดแปลง ตัดลงจากสามชั้นเป็นชั้นเดียวบ้าง แล้วก็ทรงประทานให้แตรวงทหารเรือหรือทหารบกได้นำไปบรรเลง นับเป็นพระอัจฉริยภาพทางด้านดนตรีที่ไม่เหมือนใคร

นอกจากเพลงที่เล่นในแตรวงแล้ว กรมพระนครสวรรค์ยังทรงนิพนธ์เพลงไทยแท้ที่บรรเลงด้วยปี่พาทย์ โดยเพลงประเภทนี้ พระองค์ทรงนิพนธ์เป็นส่วนมาก เมื่อครั้งที่พระองค์ทรงลี้ภัยการเมืองไปประทับที่เมืองบันดุง ประเทศอินโดนีเซีย โดยเพลงที่พระองค์ทรงนิพนธ์สำหรับวงปี่พาทย์นี้มีทั้งหมด 25 เพลง เช่น เพลงแขกมอญบางขุนพรหม เถา (ซึ่งเพลงนี้เป็นเพลงแรกในพระชนม์ชีพของพระองค์ โดยนอกจากเรียบเรียงเพื่อใช้กับแตรวงแล้ว ทางเพลงนี้ก็เป็นทางแบบไทยเดิมจึงสามารถเรียบเรียงเป็นแบบปี่พาทย์ได้อีกทาง) เพลงน้ำลอดใต้ทราย เพลงแขกสาย เถา เพลงโหมโรงประเสบัน เพลงเทวาประสิทธิ์ เถา ฯลฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเพลงที่คนดนตรีไทยคุ้นเคยกันดี 

ประเภทขับร้องหรือทางร้องซึ่งประเภทนี้แยกเป็น 2 ช่วง ช่วงแรกคือช่วงที่ทูลกระหม่อมทรงประทับที่วังบางขุนพรหม เมื่อพระองค์ทรงนิพนธ์เพลงเสร็จก็จะประทานให้หม่อมเจริญ พาทยโกศล ทำทางขับร้องถวาย ช่วงที่สองเมื่อเสด็จฯ ไปประทับอยู่ที่เมืองบันดุง ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อพระองค์ทรงพระนิพนธ์เพลงใหม่ขึ้น พระองค์ทรงต่อทางร้องประทานให้คุณหญิงไพฑูรย์ กิตติวรรณ โดยเวลาที่ทรงต่อทางร้องจะทรงใช้ซออู้สีนำ บางครั้งก็ทรงเปล่งพระสุรเสียงนำบ้าง 

ประเภทสุดท้ายคือเพลงเดี่ยว ตามที่ทราบพระองค์ทรงมีความชำนาญในการสีซอสามสายเป็นอย่างมาก จึงมีเพลงพระนิพนธ์ที่เป็นทางเดี่ยวสำหรับซอสามสายไว้มากกว่าทางเดี่ยวของเครื่องดนตรีชนิดอื่น ๆ ส่วนเครื่องดนตรีตะวันตกนั้นมีแค่ทางเดี่ยวแตรคอร์เนทเพียงอย่างเดียว ซึ่งบทเพลงประเภทเพลงเดี่ยวนี้มีเพียง 4 เพลงเท่านั้น ได้แก่ ทางเดี่ยวซอสามสายเพลงบุหลันลอยเลื่อน ทางเดียวซอสามสายเพลงอาเฮีย ทางเดี่ยวซอสามสายเพลงสารถี 3 ชั้น และทางเดี่ยวแตรคอร์เนทเพลงสารถี 3 ชั้น

สมเด็จเจ้าพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต และสมาชิกในราชสกุลบริพัตร ทรงมีเวลาเตรียมพระองค์ไม่ถึง 12 ชั่วโมง หลังจากเช้าแห่งวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 พระองค์ต้องทิ้งวังและปล่อยให้ข้าราชบริพารร่วม 400 ชีวิตดูแลตัวเอง โดยทรงมีเงินส่วนพระองค์ติดไปเพียง 9,000 บาท โดยคณะผู้ก่อการได้จัดขบวนรถถังและรถหุ้มเกราะห้อมล้อมรถ นำเสด็จฯ จากวังบางขุนพรหมไปยังสถานีหัวลำโพง บนรถไฟที่ประทับยังมีตำรวจอีกสองกองร้อย ตามเสด็จไปควบคุมพระองค์จนถึงชายแดนไทยจนออกจากประเทศไทยไปยังปีนัง ก่อนจะเสด็จฯ ไปประทับเป็นการถาวรที่เมืองบันดุง ประเทศอินโดนีเซีย โดยพระองค์ทรงประทับอยู่ต่างแดนร่วม 12 ปี ก่อนที่พระองค์ทรงประชวรด้วยโรคพระวักกะ (โรคไต) และพระหทัย (โรคหัวใจ) และได้สิ้นพระชนม์ในวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2487 โดยพระศพของพระองค์ได้อัญเชิญกลับมาประเทศไทยในอีก 4 ปีหลังจากวันสิ้นพระชนม์ ก่อนจะมีพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพทูลกระหม่อมบริพัตร ในวันที่ 10 เมษายน พ.ศ.2493 ณ พระเมรุมาศท้องสนามหลวง

นี่คือเรื่องราวทางดนตรีและพระอัจฉริยภาพของ ‘พระบิดาแห่งเพลงไทยสากล’ จอมพล จอมพลเรือ ‘สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต’

รู้จัก 'ลุงดอน' ตัวเดินเรื่องแห่ง ‘๒๔๗๕ รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ’ หน่วยราชการพิเศษ ผู้ภักดีและอยู่เคียงข้าง ‘ในหลวง ร.๗’

ผมไม่แน่ใจว่าท่านผู้อ่านจะได้ชมภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่อง '๒๔๗๕ รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ' หรือ '2475 Dawn of Revolution' กันแล้วหรือยัง? จะมีมุมมองในเหตุการณ์ที่แอนิเมชันเรื่องนี้ได้นำมาเล่าเรื่องราวแบบไหน? อันนี้แล้วแต่วิจารณญาณและภูมิรู้ที่แตกต่างกันไปนะครับ 

ขอบอกว่าบทความนี้มีสปอยภาพยนตร์เรื่องนี้บางส่วน หากชมแล้วก็คงไม่มีปัญหา ส่วนผู้ที่ยังไม่ชมแนะนำว่าอ่านแล้วรีบไปชมกันนะครับ

มีเรื่องหนึ่งที่ทีมงานอยากให้ผมเล่าเกร็ดเล็ก ๆ ของตัวละครในภาพยนตร์เรื่องนี้ ก็คือ ‘ลุงดอน’ ซึ่งในเพจ #ปราชญ์สามสี ได้ลงข้อมูลว่าเป็นตัวละครที่ได้รับแรงบันดาลใจว่ามาจาก นาย ‘พโยม โรจนวิภาต’ ซึ่งมีตัวตนอยู่จริง...เขาเป็นทั้งนักเขียน และเป็นถึงคนสนิทของ ‘รัชกาลที่ ๗’

เอาล่ะ!! ผมจะขยายความและเล่าเรื่องเล็ก ๆ ของ 'ลุงดอน' คนนี้ 

‘นายพโยม โรจนวิภาต’ เป็นมหาดเล็กรายงานของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ โดยตอนเป็นนักเขียนเขามีนามปากกา อ.ก. รุ่งแสง ซึ่งในภาษาอังกฤษ ก็คือ Dawn นั่นเอง (ติดตามอ่านเพิ่มเติมที่ #ปราชญ์สามสี ได้นะครับ : https://www.facebook.com/share/p/CtEEho9UgcQru1EM/?mibextid=oFDknk 

ที่มาของเรื่องราวสายลับนั้น เกิดขึ้นหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ ไม่นาน ซึ่งคณะราษฎร ซึ่งเป็นรัฐบาลกุมอำนาจการปกครองในเวลานั้น ได้จัดตั้งกองตำรวจพิเศษขึ้น โดยใช้ชื่อว่า ‘กองตำรวจสันติบาล' โดยให้มีหน้าที่สืบสวนหาข่าวสารทางการเมือง ติดตามสอดส่องการเคลื่อนไหวของบุคคลต่าง ๆ นั้น โดยเฉพาะพวกที่เชื่อได้ว่าเป็นพวก ‘กษัตริย์นิยม’ หรือ ‘รอยัสลิสต์’ ทั้งยังมี ‘กองนักสืบพลเรือน’ คอยสอดส่องเหตุการณ์ต่าง ๆ พร้อมรายงานหากบุคคลใด ๆ แสดงท่าทีอันเป็นปรปักษ์ต่อระบอบใหม่ โดยทำงานสอดประสานกับ ‘กองตำรวจสันติบาล’

ส่วนทางราชสำนัก ก็ได้มีการจัดตั้งหน่วยงานข่าวขึ้นเช่นกัน แต่วัตถุประสงค์ไม่ได้เป็นไปในทางที่คณะราษฎรทำเลยแม้แต่นิดเดียว!!! 

เนื่องด้วย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ทรงเกรงว่าพระราชวงศ์บางพระองค์อาจแสดงความไม่พอใจและมีปฏิกิริยาต่อทางรัฐบาลจนเกิดเป็นเรื่องขึ้น จึงมีพระราชกระแสรับสั่งให้ฝ่ายราชสำนักจัดตั้งหน่วยราชการพิเศษ ให้คอยสอดส่องความประพฤติของพระราชวงศ์ รวมทั้งความเคลื่อนไหวในด้านต่าง ๆ ของบ้านเมืองโดยทั่วไปด้วย เพื่อทรงทราบว่าใคร ทำอะไร อยู่ที่ไหนบ้าง ย้ำนะครับว่า 'พระราชวงศ์'

หน่วยราชการพิเศษนี้ใช้คนน้อยมาก ๆ ทั้งยังไม่ได้นำงบจากภาษีของประชาชนมาใช้เพื่อกำจัดใคร โดยหน่วยราชการนี้ประกอบด้วย ผู้สำเร็จราชการพระราชวังในฐานะหัวหน้าหน่วย และผู้ที่ข้าราชการผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิดพระองค์ได้คัดเลือกแล้วว่าเหมาะสม โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในวงการข่าวสาร, หนังสือพิมพ์, วงสังคมทหารและพลเรือน เรียกว่าเป็นคนแบบ 'ไปที่ไหนก็เข้าได้' ที่สำคัญเป็นผู้ที่เคยถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาในวัดพระศรีรัตนศาสดารามมากกว่า ๗ ครั้งอีกด้วย 

หน่วยราชการพิเศษที่ทรงตั้งขึ้นนี้ นอกจากเจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ (ม.ร.ว.เย็น อิศรเสนา) ผู้สำเร็จราชการพระราชวัง, มหาเสวกตรี พโยม โรจนวิภาต ซึ่งมีรหัสลับแทนตัวว่า 'พ. 27' กับ 'ผู้ช่วย' ที่ไม่ปรากฏชื่อแล้ว ซึ่งจะมีใครอีกหรือไม่ และจบบทบาทลงเมื่อใด ก็มิปรากฏชัดเจน โดย นายพโยม โรจนวิภาต เล่าถึงการตั้งหน่วยราชการพิเศษนี้ว่า...

“…เมื่อพระราชทานรัฐธรรมนูญแก่พสกนิกรไทยแล้ว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเกรงว่าอาจจะมีพระราชวงศ์บางองค์ คิดต่อต้านการปกครองระบอบประชาธิปไตย จึงทรงโปรดให้จัดตั้งหน่วยสอดส่อง ความประพฤติของบรรดาเชื้อพระวงศ์ทุกพระองค์ และทูลเกล้าฯ ถวายรายงานการเคลื่อนไหว แต่การณ์กลับปรากฎว่า พ.๒๗ ได้พบแต่ปฏิกิริยาของพวกคณะปฏิวัติ ทะเลาะวิวาท เพื่อแย่งชิงอำนาจกันเอง ทั้งยังสร้างความสะเทือนพระราชหฤทัยนานาประการ” 

หน่วยราชการพิเศษนี้ ทำหน้าที่เสมือนเป็นนักรายงานข่าว นักรวบรวมข้อมูลข่าว นักวิเคราะห์ข่าว และนักประเมินข่าว 'รายวัน' โดยใน ๑ วัน หน่วยงานนี้จะต้องรวบรวมข่าวสารการเมือง ที่นอกเหนือไปจากเรื่องที่ปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์ทั้งหลาย พร้อมสืบไปถึงเบื้องลึก เบื้องหลังอย่างแท้จริง และต้องกรองออกมาจนกลายเป็น 'ข่าวกรอง' ที่ได้กลั่นกรองมาแล้วอย่างแท้จริง โดยมีหลักสำคัญคือ ต้องไม่เสนอข่าวลือ ไม่เสนอข่าวที่ไม่ได้สอบสวนข้อเท็จจริงและต้องไม่สอดแทรกความคิดเห็นใด ๆ ใส่ลงไปนอกจากจะเป็นความคิดเห็นของบุคคลในข่าว ตามที่ได้สืบสวนมาเท่านั้น 

การรายงานข่าวดังกล่าวนี้ จะต้องรวบรวมเสนอผู้สำเร็จราชการพระราชวัง ในทุกคืน จนเมื่อได้รับความเห็นชอบแล้ว ก็ต้องรีบจัดพิมพ์ให้เสร็จและอ่านให้ผู้สำเร็จฯ ฟังอีกครั้งหนึ่งเพื่อทวนความ ก่อนจะลงนามกำกับแล้วจึงนำไปผนึกซอง 'ติดครั่ง' ประทับตราพิเศษเป็นอักษรไขว้ พ.ร.ว. (แหวนตราชื่อย่อ พโยม โรจนวิภาต) เสร็จแล้วนำส่งเจ้าหน้าที่กรมวังก่อนย่ำรุ่ง เพื่อ 'เดินหนังสือ' ด้วยรถไฟขบวนแรกจากพระนครไปหัวหิน โดยรายงานนี้จะถึงพระราชวังไกลกังวลราวบ่ายโมงเศษ ซึ่งรัชกาลที่ ๗ จะทรงรับและเปิดซองนี้ด้วยพระองค์เองเพื่อทรงทอดพระเนตรในทันทีที่รายงานไปถึง

เหตุสำคัญครั้งหนึ่ง พ.๒๗ ได้เขียนรายงานไปยังในหลวงรัชกาลที่ ๗ ว่าจะมีการก่อกบฎต่อต้านรัฐบาล โดยโค้ดหมายเลข ๑ แทนตัวพระองค์เจ้าบวรเดช และโค้ดหมายเลข ๒ แทนตัวรองแม่ทัพกบฏคือพระยาศรีสิทธิสงคราม แต่รายงานที่ พ.๒๗ ส่งไปในครั้งนี้ ในหลวงท่านรู้อยู่แล้วว่าจะเกิดกบฎต่อต้านรัฐบาล ซึ่งนำโดยพระองค์เจ้าบวรเดชฯ ในหลวงตรัสกับ พ.๒๗ ว่า “ฉันนึกว่าแกจะรู้ลึกกว่านี้” 

ที่พระองค์ตรัสดังนี้ ไม่ใช่ว่าพระองค์มีส่วนรู้เห็นกับการก่อกบฏแต่ประการใด แต่เพราะพระองค์ทรงประเมินและทรงทราบมาตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วว่า พระองค์เจ้าบวรเดชมีใจอยากจะคิดเปลี่ยนแปลงการปกครองมาแต่แรกก่อนคณะราษฎร และคิดจะกำจัดพระยาพหลฯ มาตั้งแต่เริ่มมีเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่เพราะพระองค์เคยทรงปรามไว้ จนทำให้พระองค์เจ้าบวรเดชทรงขุ่นเคือง ร.๗ เป็นอย่างมาก 

นอกจากนี้พระองค์ยังทรงเตือนพระยาพหลฯ ไว้แล้วด้วยซ้ำว่า ให้ระวังพระองค์เจ้าบวรเดชไว้ (ใครจะบอกว่าพระองค์ทรงรู้เห็นและสนับเรื่องกบฏบวรเดชผมขออนุญาตตบปากสัก ๗ ครั้งนะครับ)

กลับมาที่ พ.๒๗ เขาได้เล่าไว้ในหนังสือ 'พ.๒๗ สายลับพระปกเกล้า' ถึง 'แผนหลั่งเลือดในวังปารุสก์' โดยระบุไว้ว่า...

"…แผนหลั่งเลือดในวังปารุสก์ ซึ่งกลุ่มผู้ก่อการในกรุงเทพฯ จัดขึ้น นอกเหนือแผนการของพระองค์เจ้าบวรเดช คือการบุกเข้าประหาร 'คนสำคัญ' ของฝ่ายรัฐบาล ซึ่งพักอยู่ในวังปารุสกวัน ทราบว่ากลุ่มนี้ได้ว่าจ้างนักเลงปืนชั้นยอดจากต่างจังหวัดมากำจัดบุคคลสำคัญคนหนึ่ง ในจังหวะที่บุคคลนั้นพรวดพราดออกมาจากห้องนอน ขณะมีเสียงสัญญาณบอกเหตุร้ายดังขึ้น เมื่อกองทัพฝ่ายโคราชยกมาถึงสถานีจิตรลดา และกองหน้าส่วนหนึ่งกำลังบุกเข้าวังปารุสก์"

โดยแผนนี้จะดำเนินการในวันที่ ๑๐ ตุลาคม เมื่อคณะผู้ก่อการเดินทางออกจากจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป้าหมายไม่ใช่ 'พระยาพหลฯ' หากแต่เป็น 'หลวงพิบูลสงคราม' ซึ่งนับว่าประหลาดมาก 

แต่เดชะบุญกลุ่มผู้ก่อการได้เลื่อนแผนการออกไป ๑ วัน โดยคณะผู้ก่อการได้ออกเดินทางจากโคราชในวันที่ ๑๑ ตุลาคม ทำให้แผนสังหารไม่สามารถดำเนินไปได้ เลยเป็นอันว่า 'แผนหลั่งเลือดในวังปารุสก์' ไม่เกิดขึ้น 

ทำไม? ถึงไม่จัดการสังหารผู้นำของคณะราษฎรในวันนั้นซะล่ะ ??? 

ไม่ใช่ว่า พ.๒๗ จะกลัวตายเลยไม่ดำเนินตามแผนต่อเนื่องไปนะครับ โดยเขาเล่าว่าหากเขาลงมือ “กลัวว่าจะกลายเป็นหลักฐานพยานให้ฝ่ายรัฐบาลกล่าวหาได้ว่า ‘พระมหากษัตริย์ทรงมีส่วนรู้ร่วมคิดกับฝ่ายทหารหัวเมือง’ เพราะข่าวทางลับของคณะราษฎรได้มาถึงมือผู้นำของพวกเขาแล้ว ด้วยการข่าวของผู้ก่อการรั่วและเป็นปฐมเหตุให้การต่อต้านรัฐบาลล้มเหลว (พระยาพหลฯ รู้ก่อนคณะผู้ก่อการออกจากโคราช และหลวงพิบูลได้เตรียมการรบแล้ว) ซึ่ง พ.๒๗ มีสิทธิ์โดนสอยร่วงตายอย่างไร้ประโยชน์ ทั้งยังจะเป็นเหตุใช้ปรักปรำในหลวงรัชกาลที่ ๗ เพราะ พ.๒๗ ซึ่งเป็นข้าราชการในวังแต่มา 'ตาย' อยู่ที่วังปารุก์วัน 

หลังจากกบฏบวรเดชถูกปราบปรามล่วงไปแล้ว ๔ เดือน ได้มีคำสั่งระบุว่า “สำนักพระราชวังก็มีคำสั่งปลด รองเสวกตรี พโยม โรจนวิภาต ออกจากราชการ ฐานหย่อนสมรรถภาพ” ทั้งยังเป็นที่ต้องการตัว เนื่องจากถูกมองว่ามีส่วนพัวพันในกรณี 'กบฏบวรเดช' ทำให้เขาต้องเดินทางออกนอกประเทศเพื่อหลบภัยการเมือง โดยเขาบรรยายการตามจับบุคคลที่คาดว่าจะเกี่ยวข้องกับกบฏบวรเดชไว้ว่า...

"ผู้เอาใจช่วยพวกกบฎและประณามรัฐบาลได้แก่ ใครๆ ไม่ว่าหน้าอินทร์หน้าพรหม ที่เต้นแร้งเต้นกา หรือซุบซิบ เห็นพ้องด้วยกับการกบฎ เพื่อล้มรัฐบาลพระยาพหลฯ คนกบฎประเภทนี้ คือ คนปากเสีย มีโทษติดตะรางได้สวยเหมือนกัน" 

ก่อนที่ พ.๒๗ จะหนีออกนอกประเทศเขาได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ โดยทรงมีพระเมตตาพระราชทานเงินให้ ๓,๐๐๐ บาท แล้วทรงให้ออกนอกประเทศ ไปลี้ภัยอยู่ที่ปีนังและสิงคโปร์ จึงเดาได้ว่าในหลวง ร.๗ ท่านทรงคาดไว้แล้ว

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ นั้น นายพโยม โรจนวิภาต ได้เข้าร่วมเป็นเสรีไทย โดยเป็นผู้จัดการวิทยุภาคภาษาไทย ได้พูดโจมตีรัฐบาลไทยภายใต้การคุมอำนาจของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม อยู่บ่อยครั้ง ทั้งยังได้แต่งกลอนตำหนิ หัวหน้ารัฐบาลที่ตกอยู่ภายใต้อำนาจของญี่ปุ่น ผ่านสถานีวิทยุ ไว้ว่า...

เป็นจอมพลไฉนยอมเป็นจอมแพ้...
ทำผิดแล้วคิดแก้ไม่ได้หรือ...
เกิดเป็นชายชาตรีมีฝีมือ...
ไฉนจึงดื้อให้ไพรีนั่งขี่คอ...

จนสงครามโลกครั้งที่ ๒ ได้ยุติลง พร้อมกับรัฐบาลประกาศนิรโทษกรรมแก่นักการเมืองทั้งหมดแล้ว เขาจึงเดินทางกลับมาประเทศไทย 

ถ้าเราอยากจะรู้จักเขามากกว่านี้ลองไปหาหนังสือที่เขาเขียนชื่อ 'พ.๒๗ สายลับพระปกเกล้า' อ่านกันนะครับ สนุกแน่

'โพธิ์เงิน กระตุฤกษ์' ยอดนักกินจอมชักดาบ อดีตนักเรียนนอกรสนิยมสูง แต่ไม่มีสตางค์

วันนี้มาเล่าเรื่องจริงในอดีตในแบบเบา ๆ กันบ้างดีกว่า ผมเชื่อว่าทุกคนคงรู้จักคำว่า 'กินแล้วชักดาบ' คือการฉ้อฉลรูปแบบหนึ่ง โดยการทำตนเป็นลูกค้า ที่มาสั่งและบริโภคอาหารและเครื่องดื่มจากร้านอาหาร ภัตตาคาร เมื่อบริโภคเสร็จแล้วก็ไม่ยอมจ่ายเงิน โดยอาจจะยอมรับแบบตาใสว่าไม่มีเงินจ่าย หรือหาวิธีหลบเลี่ยงออกไปอย่างแยบยล ซึ่งในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน 'ชักดาบ' หมายถึง ไม่ยอมจ่ายเงิน 

ซึ่งที่มาที่ไปของคำว่า 'ชักดาบ' นี้ บ้างก็ว่าเกิดขึ้นช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพาโดยทหารญี่ปุ่นที่เข้าไปกินอาหารในร้านค้าของคนไทย พอกินเสร็จเจ้าของร้านจะเก็บเงินก็เอาชักดาบออกมาวางบนโต๊ะแล้วมองหน้าแบบขึงขัง ประมาณว่า “กูไม่จ่าย” เจ้าของร้านก็ไม่กล้าเก็บเรียกเก็บเงินซ้ำ ทหารญี่ปุ่นก็ออกจากร้านไปโดยไม่จ่ายเงินจากทหารหนึ่งกลุ่มก็กลายเป็นทหารหลายกลุ่มที่ทำเหมือนกันจนกลายเป็นพฤติกรรมปกติ ซึ่งทำให้คนไทยเข็ดขยาดและไม่ค่อยอยากรับลูกค้าที่เป็นทหารญี่ปุ่นนัก ซึ่งอันนี้ผมว่าก็ฟังแล้วขำ ๆ นะครับ ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องจริงในบริบท ณ ช่วงเวลานั้น แต่เรื่องจริง ๆ เมืองไทยช่วงเวลานั้นมีเงินเฟ้อค่อนข้างสูง เพราะญี่ปุ่นเล่นผลิตเงินใช้เอง บ้างก็ใช้เครดิตไว้กับร้านค้า พอสงครามยุติก็หายต๋อม คนไทยก็รับกรรมเรื่องหนี้ไป ก็อาการโดยรวมทั้ง 'ชักดาบ' หน้าร้าน หรือไม่มาจ่ายหนี้ก็อารมณ์เดียวกัน

ทีนี้ในเมืองไทยมันมีเรื่องราวของ 'ยอดนักชักดาบ' อยู่คนหนึ่ง ในช่วงประมาณปี พ.ศ. 2526 - 2528 ซึ่งยอดชายคนนี้มีชื่อและนามสกุลว่า 'โพธิ์เงิน กระตุฤกษ์'

นายโพธิ์เงิน กระตุฤกษ์ มีชาติกำเนิดที่เรียกได้ว่าดีเยี่ยมเพราะเป็นลูกคนที่ 3 ในจำนวนพี่น้อง 4 คนของ คุณเวช กระตุฤกษ์ เจ้าของสำนักพิมพ์เพลินจิตต์ ซึ่งในเวลานั้นเป็นครองตลาดหนังสือนวนิยายของเมืองไทย โดยมีนักเขียนชื่อดังที่เขียนประจำอย่างมากมาย เช่น ส.บุญเสนอ, จ.ไตรปิ่น, ป.อินทรปาลิต, ไม้ เมืองเดิม, อรวรรณ จนถึง พนมเทียน และน.นพรัตน์ ฯลฯ เรียกว่าสุดยอดในยุคนั้น 

แต่ด้วยความที่ครอบครัวอาจจะไม่อบอุ่นเพราะเมื่อเขาเกิดมาไม่นาน คุณแม่ของเขาก็ป่วยหนัก ต้องจ้างพยาบาลมาดูแล ส่วนคุณพ่อด้วยความความเจ้าชู้ ก็เลยได้พยาบาลที่ดูแลแม่ของเขานั่นแหละมาเป็นภรรยาอีกคน ส่วนเขาได้รับการเลี้ยงดูจากแม่นมแทน แถมยังโดนแม่บอกว่าเขาเป็นตัวอัปมงคล เลยถูกส่งไปอยู่โรงเรียนประจำ แล้วก็ถูกส่งไปเรียนที่ประเทศอังกฤษ เรียกว่าขาดอบอุ่นสุด ๆ ทำให้ตัวเขาเป็นคนที่ชอบเรียกร้องความสนใจ โดยเฉพาะการเปย์เพื่อน หน้าใหญ่ เพื่อต้องการเป็นคนดังในหมู่เพื่อน ๆ จนความฟุ้งเฟ้อ ฟุ่มเฟือย ติดตัวจนกลายเป็นคน 'จมไม่ลง' และกลายมาเป็น 'ยอดนักชักดาบ' 

เมื่อกลับมาถึงเมืองไทยก็มาทำงานหลาย ๆ อย่าง จนพ่อของเขาเสียชีวิต กิจการต่าง ๆ ก็ล่มสลาย ส่วนตัวเขาก็ไม่มีอะไรที่เป็นชิ้นเป็นอันนัก จะมีที่พอนับได้ก็คงเป็นบริษัททัวร์ที่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าไหร่นัก ท้ายที่สุดไม่รู้เหตุผลใดที่ทำให้เขากลายเป็นจอมชักดาบ ซึ่งการชัดดาบของเขานั้นเป็นการชักดาบ ตั้งแต่ร้านเพิงริมถนนไปจนถึงร้านหรูในโรงแรมระดับ 5 ดาว 

ยอดชายจอมชักดาบผู้นี้มีการเตรียมตัวมาอย่างดี พร้อมรับสถานการณ์จากร้านที่เขาเข้าไป ทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นสถานเบาอย่างการด่าทอ เหยียดหยาม ข่มขู่ ไปจนถึงสถานหนักอย่างการถูกตบ ถูกต่อย ถูกกระทืบ เรียกว่าแกรับได้ทุกสถานการณ์ 

การไป 'ชักดาบ' ของโพธิ์เงินนั้น ด้วยความเป็นหนุ่มนักเรียนนอกบุคลิกดี แกจะแต่งตัวอย่างดี สวมใส่เสื้อเชิ้ต กางเกงขายาว บางที่ก็ใส่สูทอย่างหรู เวลาเข้าไปร้านอาหารไหน หรือภัตตาคารใด เขาก็ต้อนรับแกอย่างพระเอก โดยไม่รู้ว่าตอนจบจะกลายเป็นพระเอกจะกลายเป็นโจร

ไม่ใช่แค่ร้านอาหารอย่างเดียวนะครับที่แกเข้าไปชักดาบ 'อาบอบนวด' สถานบันเทิงของท่านชายแกก็เคยไปป่วน 'อาบน้ำฟรี' มาแล้ว โดยเรียกหมอนวดมานวดแบบบีคอร์ส (อาบน้ำแบบพิเศษ) พอถึงเวลาเก็บเงิน แกก็บอกไปอย่างหน้าด้าน ๆ ว่าไม่มีเงิน เรียกว่าไม่ได้สงสารหมอนวดเลย 

ว่ากันว่าโพธิ์เงิน เคยถูกตำรวจจับกุมถึง 28 ครั้ง ซึ่งแกบอกว่าไม่ใช่ แกเคยทำมาร่วม '100 กว่าครั้งแล้ว' และแกตั้งใจจะทำให้ครบ 40,000 ครั้ง (ช่างกล้าจริง ๆ) เคยโดยหมั่นไส้และโดนสั่งสอนมานับไม่ถ้วนจนสุดท้ายญาติพี่น้องน่าจะเอือมระอาเลยปล่อยให้แกโดยจับดำเนินคดีไป ครั้งสุดท้ายถูกขังคุกนาน 45 วัน ข้อหาฉ้อโกงทรัพย์ถูกคุมประพฤติเป็นเวลา 1 ปี โดยคดีที่แกโดนตำรวจจับจนขึ้นเป็นข่าวคราวหน้าหนึ่งในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐมีดังนี้

11 มกราคม 2526 โดนจับกุมข้อหาฉ้อโกงเนื่องจากกินอาหาร ที่ร้าน ‘แม่พลอย’ ย่านเยาวราช ในราคา 513 บาท แล้วไม่จ่ายเงิน

7 กรกฎาคม 2526 โดนจับกุมข้อหาฉ้อโกงเนื่องจากกินอาหารและใช้บริการอาบอบนวด ทั้งแบบบีคอร์ส และธรรมดา ในสถานอาบอบนวด 'วิลันดา' ซึ่งตั้งอยู่ที่ศูนย์การค้าออสก้า ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ แล้วไม่จ่ายเงิน 

25 มกราคม 2528 โดนจับกุมเนื่องจากกินอาหาร ที่ห้องอาหาร 'โรส' บนชั้นสองของโรงภาพยนตร์อินทรา ในราคา 200 บาท แล้วไม่จ่ายเงิน ถูกเจ้าของแจ้งความดำเนินคดี และถูกศาลสั่งกักขังแทนค่าปรับเป็นเวลา 10 วัน

8 กุมภาพันธ์ 2528 โดนจับกุมข้อหาฉ้อโกงเนื่องจากกินอาหาร ร้าน 'เจ๊ฮ้อ' ตลาดโต้รุ่ง ประตูน้ำ ถนนเพชรบุรี ในราคา 520 บาท แล้วไม่จ่ายเงิน เลยถูกจับส่งตำรวจใน แถมถูกลูกค้าในร้านตบสั่งสอน

18  มีนาคม 2528 ถูกศาลลงโทษจำคุก 45 วัน ให้คุมประพฤติเป็นเวลา 1 ปี โทษฐานกระทำความผิดข้อหาฉ้อโกงทรัพย์ (ค่าอาหาร) 

ซึ่งหลังจากถูกศาลลงโทษจำคุกและคุมประพฤติเรื่องราวของแกก็ค่อย ๆ หายไปจากหน้าหนังสือพิมพ์ ส่วนหนึ่งอาจะเพราะร้านอาหารและสถานบริการต่าง ๆ ได้มีติดรูปของแกไว้เพื่อป้องกันการชักดาบเป็นที่เรียบร้อยแล้วนั่นเอง 

ปัจจุบันแกได้เสียชีวิตมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว แต่เรื่องราวความกล้าในการ 'ชักดาบ' ของแก เรียกได้ว่าเป็นตำนานที่คงไม่มีใครอยากจะเลียนแบบนัก แต่ 'โพธิ์เงิน กระตุฤกษ์' ก็เป็นเพียงคนเล็ก ๆ ที่ริอ่าน 'กินฟรี เที่ยวฟรี' 

ไม่เหมือนกลุ่มคนบางจำพวกที่มักใช้อำนาจหน้าที่ของตนในการเบ่งกินฟรี เที่ยวฟรี อย่างที่เรา ๆ ท่าน ๆ เคยได้ยินได้ฟังกันมาตลอดในบ้านเรา เมืองเรา เอวัง

ทำไม? ในหลวงรัชกาลที่ ๔ ทรงต้องการปราสาทขอม  ประวัติศาสตร์เรื่องอาณานิคม ที่คนรุ่นใหม่เล่าไม่ครบบริบท 

เมื่อประมาณสักหลายเดือนก่อน ผมได้ลองอ่านเรื่องประวัติศาสตร์อ่านสนุก ๆ ในโลก Social Media ซึ่งเกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ และปราสาทนครวัดจำลองในพื้นที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งปราสาทจำลององค์นี้ ซึ่งพระองค์มีพระราชบัญชาให้ขุนนางได้จำลองมาไว้ แต่ประเด็นที่น่าสนใจไม่ใช่เรื่องราวของการนำเอาปราสาทนครวัดมาจำลองไว้ แต่มันเกี่ยวกับเรื่องของการรื้อถอนปราสาทหินจากเขมรเพื่อนำมาไว้ในสยาม แต่ประวัติศาสตร์อ่านสนุกนั้นไม่บอกไว้ว่าทำไม ? ล้นเกล้ารัชกาลที่ ๔ ถึงต้องรื้อปราสาทหินมาไว้ในพระนคร นอกจากพระองค์ยังทรงต้องการที่จะให้ชาวพระนครได้ชมปราสาทหินเขมร ซึ่งมันคือ 'เรื่องปลายทาง'

จากการไม่อธิบายตรงนั้น ทำให้หลายต่อหลายคนที่ได้มาอ่านก็คิดไปกันเองโดยไม่เข้าใจว่าในหลวงรัชกาลที่ ๔ เพียงแค่ต้องการปราสาทหินมาไว้ในพระนครเพื่อแสดงความเป็นเจ้าเหนือหัวของกษัตริย์เมืองเขมรที่เป็นประเทศราช ซึ่งผมมองว่าไม่ถูกต้องเท่าไหร่นัก หากจะเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ สมควรจะเล่าบริบทให้ครบ

'เรื่องต้นทาง'

ในช่วงรัชกาลที่ ๔  สยามเริ่มเข้าสู่ความเชี่ยวกรากของนักล่าอาณานิคมโดยเฉพาะ 'นักล่าหน้าใหม่' ซึ่งมีความกระหายในการ 'ล่าเมืองขึ้น' ไม่ให้น้อยหน้าชาติในยุโรปที่ออกมาหาเมืองขึ้นก่อนหน้านั่นก็คือฝรั่งเศส ซึ่งกระโดดเข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลังอังกฤษ แต่ต้องการแสดงแสนยานุภาพให้โลกเห็นว่าตนเองก็ไม่ธรรมดา และการหาเมืองขึ้นเพื่อเชื่อมโยงตั้งแต่ทะเลจีนใต้ไปถึงประเทศจีนเป็นหมุดหมายสำคัญของฝรั่งเศสในช่วงเวลานั้น 

หลังจากผ่านพ้นช่วงการเมืองอันวุ่นวาย ฝรั่งเศสก็มีแนวความคิดที่จะออกสู่โลกอันกว้างใหญ่เพื่อหาเมืองขึ้น โดยสร้างชมรมนักสำรวจโดยสมอ้างมันคือชมรมการสำรวจอารยธรรมเพื่อความรู้ใหม่ของชาติ แต่เอาจริง ๆ ก็คือการสำรวจเพื่อประเมินทรัพยากรก่อนเข้ายึดครองนั่นเอง ซึ่งหนึ่งในการสำรวจครั้งนั้นก็มี ญวณ เขมร และลาว ซึ่งทุกประเทศล้วนเกี่ยวข้องกับสยาม ซึ่งเรื่องเล่านี้เชื่อว่าท่านผู้อ่านคงทราบกันเป็นอย่างดีแล้ว 

ภายหลังจากภาพชุดแรกของนักธรรมชาติฝรั่งเศสชื่อ อองรี มูโอต์ ได้วาดและระบายสีภาพ 'อังกอร์วัด' และเมืองโบราณาอื่น ๆ กว่า ๘๐๐ ภาพ ในช่วงปี ค.ศ. ๑๘๕๙ ก่อนนำไปตีพิมพ์ในวารสารเที่ยวรอบโลก Le Tour Du Monde ในช่วง ค.ศ. ๑๘๖๓ ซึ่งขณะที่มูโอต์ได้พบอังกอร์วัด กองทัพฝรั่งเศสได้เข้ายึดครองญวณภาคใต้ได้สำเร็จ จากญวณก็พุ่งเป้าไปยังกัมพูชาเพื่อต่อยอดแผนอันทะเยอทะยานในการมีอิทธิพลเหนือภูมิภาคนี้แต่เพียงผู้เดียว โดย นาวาตรีโบนาร์ด ข้าหลวงใหญ่แห่งโคชินไชน่า ได้เข้าไปในนครเสียมราฐอย่างเงียบ ๆ เพื่อศึกษาลู่ทางต่าง ๆ โดยเขาพบว่า 'นครวัด' อันรกร้างเหมาะจะเป็น 'สัญลักษณ์' ที่เหมาะสมที่สุดแห่งความชอบธรรมของจักรวรรดินิยมฝรั่งเศส เพราะว่าฝรั่งเศสกำลังจะพลิกฟื้นซากแห่งอารยธรรมโบราณให้แก่ประเทศที่ขาดการพัฒนา เพียงแต่อังกอร์วัดยังเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนที่ชื่อว่า 'สยาม'

'เรื่องกลางทาง'

การที่ฝรั่งเศสเริ่มเข้ามาสนใจเขมรนั้น อยู่ในพระเนตรพระกรรณของในหลวงรัชกาลที่ ๔ มาตลอด พระองค์ทรงตระหนักถึงพิษภัยการคุกคามของฝรั่งเศสที่มีมากกว่าอังกฤษ แถมการทูตใด ๆ ก็ไม่สามารถระงับความอยากได้เขมรของฝรั่งเศสได้ เพราะฝรั่งเศสเดินเกมลุกอย่างหนักทั้งจากการเข้าเฝ้า 'สมเด็จพระนโรดมฯ พรหมบริรักษ์' เพื่อเสนอผลประโยชน์ที่เขมรจะได้รับหากแยกทางกับสยาม

การตอบโต้ฝรั่งเศสในครั้งนั้นของในหลวงรัชกาลที่ ๔ เพื่อตอบโต้การคุกคามของฝรั่งเศสในก็คือพระราชบัญชาให้ขุนนางไทยสำรวจปราสาทนครวัดอย่างถ้วนถี่ เพื่อรื้อถอนเข้ามายังสยาม แต่ในขณะที่สยามกำลังสำรวจนี้ ฝรั่งเศสได้ขนวัตถุโบราณออกจากเขมรไปอย่างต่อเนื่อง หลักฐานการขนสามารถดูได้จากหลักฐานของฝรั่งเศสเองซึ่งเยอะมาก ๆ 

แต่การตอบโต้แรกไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากปราสาทนครวัดนั้นใหญ่โตเกินไป แผนถัดไปจึงมีพระบรมราชโองการให้รื้อถอนปราสาทหินขนาดย่อม ๆ เข้ามาสัก ๒ หลัง โดยส่งกำลังพลถึง ๑,๐๐๐ คนเข้าไปโดยมุ่งไปที่ปราสาทพระขรรค์และปราสาทตาพรหม ซึ่งเรื่องเหล่านี้ถูกฝรั่งเศสเพ่งเล็งและรายงานไปยังข้าหลวงใหญ่ในโคชินไชน่าแทบจะทันที

ถ้าอ่านถึงตรงนี้หลายคนที่อ่านก็คงดรามากันแล้ว เหมือนจากเหตุต้นเรื่องที่ผมได้เล่ามา แต่พระบรมราโชบายนี้มีความลึกซึ้งกว่าที่เราจะมองเผิน ๆ ได้ เพราะเรามีปราสาทขอมในสยามที่ใกล้กรุงเทพฯ เยอะแยะ ทำไม ? ถึงต้องเอาปราสาทที่ไกลจากสยามออกถึงขนาดนั้น และไม่ใช่แค่พระองค์อยากนำปราสาทมาก่อไว้เพื่อเกียรติยศแต่อย่างใด

พระองค์ดำเนินพระราโชบายการรื้อถอนปราสาทหินเขมรเข้ามาเพื่อแสดงความเป็น 'เจ้าอธิราช' เหนือเขมรอย่างถูกต้องทั้งพฤตินัยและนิตินัย เพราะฝรั่งเศสในขณะนั้นเขามาลักกินขโมยกิน ทั้ง ๆ ที่ผู้สถาปนากษัตริย์เขมรคือพระมหากษัตริย์แห่งสยาม 

'เรื่องปลายทาง'

โครงการรื้อถอนปราสาทพระขรรค์และปราสาทตาพรหม ก็ไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากมีทหารป่าเขมรประมาณ ๓๐๐ คน เข้ามาโจมตีขุนนางสยามจนล้มตาย บาดเจ็บไปหลายคน แต่กระนั้นในหลวงรัชกาลที่ ๔ ยังคงมีพระราชบัญชาให้ดำเนินการต่อ 'เอาเข้ามาให้จงได้' เพราะเดิมครั้งนั้นคือการเสียบ้านเสียงเมืองในส่วนของเขมรซึ่งอยู่กับสยามมาอย่างยาวนานนับเนื่องมาถึง ๔ รัชกาล 

แต่ในท้ายที่สุดเหล่าขุนนาง เสนาบดีได้เข้าชื่อทำเรื่องทูลเกล้าฯ ขอพระราชทาน 'ระงับ' เพราะเหลือกำลังที่จะรื้อ หรือถ้ารื้อมาแล้วการประกอบขึ้นใหม่ถ้าทำแล้วไม่เหมือน ไม่สมบูรณ์ ก็จะเป็นการเสื่อมเสียพระเกียรติยศไปเสียอีก ทำให้เวลาต่อมาจึงได้ทรงมีพระราชบัญชาให้สร้างปราสาทนครวัดจำลอง ย่อส่วนลงมาไว้เป็นที่ระลึกภายในพื้นที่ของวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวังที่เราได้เห็นกันอยู่ถึงวันนี้

นอกเหนือการนำปราสาทหินเขมรเข้าในพระนคร ในหลวงรัชกาลที่ ๔ ยังคงมีสัญญาลับที่ทำกับเขมรในปี ค.ศ. ๑๘๖๓ เพื่อยังคงดำเนินการักษาอธิราชของสยามที่มีต่อเขมรไว้ แต่ฝรั่งเศสก็ขัดขวางไว้เช่นเคย โดยใช้เรือปืนมาข่มขู่สยามถึงปากน้ำเจ้าพระยาจนเราต้องยอม ส่วนทางเขมรฝรั่งเศสก็ส่งตัวแทนเข้าสู่ราชสำนักเขมรและเสนอผลประโยชน์เพื่อให้เขมรเลิกเป็นประเทศราชของสยาม และเป็นมาเป็นรัฐอารักขาของฝรั่งเศส 

สุดท้ายเขมรก็ตกลงเพราะประโยชน์ที่ได้มันค่อนข้างจะคุ้มค่ามาก ๆ ในช่วงเวลานั้น ทำให้การลักกิน ขโมยกินของฝรั่งเศสเป็นเรื่องถูกต้องทั้งทางพฤตินัยและนิตินัย สัญญาลับที่เราทำกับเขมรก็เป็นโมฆะไปโดยปริยาย แล้วฝรั่งเศสก็เดินหน้ายึดพื้นที่ไปเรื่อย ๆ จนพื้นที่ญวณ เขมร และลาวเป็นพื้นที่ในอารักขาของฝรั่งเศสไปทั้งหมด 

สิ่งที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ได้ทรงดำเนินพระราโชบายและที่ทรงได้มีพระราชบัญชา เป็นการมองการณ์ไกล เพื่อแสดงความเป็นเจ้าอธิราชให้ชัดเจน เพื่อป้องกันการรุกรานของฝรั่งเศสที่จะเกิดขึ้น เพราะหากฝรั่งเศสได้เขมร พื้นทื่อื่น ๆ ที่ติดกับเขมรย่อมต้องเสียตามไปอีกเป็นแน่แท้ แล้วการณ์ทุกอย่างก็เป็นอย่างที่พระองค์คาดไว้ จากนโยบายเรือปืนของฝรั่งเศส ที่เราได้ผลกระทบมาอย่างต่อเนื่องในอีกถึง ๒ รัชกาล

โจทย์ใหญ่!! การถวายความปลอดภัยขบวนเสด็จฯ ในวันที่ไทยมี ‘คนไม่ปกติ’ หมายคิดแต่จะล้มเจ้า

ผมอาจจะเขียนเรื่องนี้ช้าไปกว่าทุก ๆ คน แต่อยากให้เรื่องนี้เป็นเรื่องช้าที่ช่วยย้ำเตือนถึงพระมหากรุณาธิคุณขององค์พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ของพวกเราชาวไทย แม้ว่าคนอาจจะพยายามเปลี่ยนแปลงระบอบ ยกเลิกระบบ และแก้ไขกฎหมายอย่างไม่หยุดยั้ง ทั้งในสภาและนอกสภา

จากเหตุการณ์ป่วนขบวนเสด็จฯ ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มันมีความจริงด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจราจรเมื่อขบวนเสด็จฯ และกฎหมายเกี่ยวกับการถวายความปลอดภัยเมื่อมีขบวนเสด็จฯ ซึ่งหลายคนไม่เคยสนใจรับรู้ โดยเฉพาะเยาวชนที่เรียกตัวเองว่าผู้นำการเปลี่ยนแปลง (ซึ่งบางคนมันก็ไม่ใช่เยาวชนแล้วล่ะ) แต่มักจะทำผิดกฎหมายอยู่บ่อย ๆ โดยมักจะอ้างว่าตัวเองมีสิทธิ เสรีภาพในการกระทำการนั้น ๆ ผมอยากจะพรุสวาทเบ ๆ ด้วยคำสั้น ๆ ถึงพวกเขาเหล่านั้นว่า ‘ไอ้บ้า’ ประเทศมีกฎหมายถ้าอยากอยู่แบบทำอะไรก็ได้ ก็ไปอยู่ในสถานที่ ที่เขาไม่มีกฎหมาย แต่คงยากเพราะไปที่ไหนเขาก็มีกฎควบคุมทั้งนั้นสรุปคือ ‘ลำบาก’ กับการอยู่ละ!!

กลับมาดูกฎหมายที่ผมจะเล่ากันดีกว่า...

เริ่มต้นด้วยกฎหมายเกี่ยวกับขบวนเสด็จฯ โดยเฉพาะว่าด้วยการจราจร ซึ่ง พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงห่วงใยราษฎรของพระองค์เมื่อมีการเสด็จฯ และจำเป็นต้องปิดการจราจร ทรงเกรงว่าการเสด็จพระราชดำเนินของพระองค์ และพระบรมวงศานุวงศ์ จะกระทบกับการเดินทางของประชาชน จึงให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติกำหนดแนวทางอำนวยความสะดวกด้านการจราจรมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 โดยมีแนวทางในการปฏิบัติ 10 ข้อ ดังนี้….

1. ไม่ให้ปิดการจราจร เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้เส้นทางได้ตามปกติ

2.ในเส้นทางเสด็จฯ ให้จัดช่องทางเสด็จฯ และช่องทางประชาชน โดยใช้อุปกรณ์ เช่น กรวยยาง ป้ายไฟ เพื่อความสะดวก

3. เส้นทางฝั่งตรงข้ามทางเสด็จฯ กรณีที่มีเกาะกลางถนนเส้นทางฝั่งตรงข้าม สามารถใช้ได้ตามปกติ กรณีไม่มีเกาะกลางถนน ให้ใช้อุปกรณ์ เช่น กรวยยางวาง โดยประชาชนสามารถวิ่งตามเส้นทางที่จัดไว้ได้ตามปกติ

4. กรณีทางร่วมทางแยกให้ประชาชนใช้เส้นทางได้ตามปกติ โดยใช้วิธีการควบคุมรถ เช่น ใช้กรวยยางวางควบคุมกระแสรถ

5. สำหรับสะพานกลับรถ หรือสะพานข้าม ให้ประชาชนใช้ได้ตามปกติ

6. กรณีทางพิเศษที่มีด่านเก็บเงิน ให้วางแนวกรวยยางด้านซ้ายให้ประชาชนเดินรถได้ โดยให้เหลือช่องทางสำหรับขบวนเสด็จอย่างน้อย 2 ช่องทาง

7. กรณีเส้นทางร่วมทางแยก ไม่ให้บังคับให้ประชาชนเปลี่ยนเส้นทาง ให้คำนึงถึงความตั้งใจของประชาชนเป็นหลัก

8. เน้นย้ำในการวางอุปกรณ์ให้พิจารณาตามความเหมาะสม ให้คำนึงถึงเวลา ให้กระทบประชาชนน้อยที่สุด

9. ใช้มาตรการประชาสัมพันธ์เพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดกับทั้งประชาชนและผู้ปฏิบัติหน้าที่

10. ผู้บังคับบัญชาทุกระดับชั้นต้องลงไปกำกับดูแลด้วยตนเอง สำหรับผู้ปฏิบัติให้ใช้วาจา กิริยา ท่าทางด้วยความสุภาพ ไม่ให้ประชาชนรู้สึกว่าถูกบังคับ

การดำเนินการปรับรูปแบบการถวายการอารักขาระหว่างการเสด็จพระราชดำเนินของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นไปตามวัตถุประสงค์หลัก เพื่อถวายความปลอดภัยแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ ในระดับสูงสุด เพื่อให้สมกับพระเกียรติ และเป็นไปตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ก็เลยไม่เข้าใจว่าเมื่อดำเนินการลักษณะดังกล่าวนี้แล้วทำไมยังไป ‘หนักศีรษะ’ ของหญิงสาวและชายหนุ่มคู่นั้นอีก (ไม่อยากพิมพ์ชื่อให้เป็นเสนียดคีย์บอร์ดครับ) หรือมันยังไม่สาแก่ใจในการ ‘ด่า’ และ ‘ความต้องการบางอย่าง’ โดยเฉพาะเกี่ยวกับเรื่องเจ้า เรื่องนาย ทำให้ต้องรีบขับรถด้วยความเร็วเพื่อเข้าไปแทรกขบวนเสด็จฯ แต่เมื่อโดนกัก ก็ลงไปลำเลิก ว่ากล่าว เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติหน้าที่ถวายการอารักขาอย่างคนไร้อารยะ ซึ่งเขาทั้งคู่คงลืมเรื่องกฎแห่งความปลอดภัยทางการจราจร และกฎหมายอีกหลายต่อหลายข้อ โดยเฉพาะกฎหมายตาม พ.ร.บ.การถวายความปลอดภัย พ.ศ. 2560 ซึ่ง ‘ไอ้คนพวกนี้’ มันไม่เคยสนใจอยู่แล้ว แต่ผมขอตัดบางข้อใน พรบ. เพื่อนำไปสู่ข้อความสำคัญดังนี้...

การถวายความปลอดภัย หมายความว่า “การรักษาความปลอดภัยสําหรับองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท พระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นพระองค์เจ้าขึ้นไป และให้หมายความรวมถึงการรักษาความปลอดภัยสําหรับผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์.....และบุคคลที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับเป็นพระราชอาคันตุกะ....โดยครอบคลุม พระราชฐาน ที่ประทับหรือที่พัก...ขณะที่เสด็จฯ ไปหรือไปยังที่ใด รวมตลอดถึงการรักษาความปลอดภัยของ ยานพาหนะ และสิ่งอื่นที่เกี่ยวข้อง”

โดยมี ‘หน่วยราชการในพระองค์’ และ ‘หน่วยงานรัฐ’ เป็นผู้รับผิดชอบ โดยไปอ่านฉบับเต็มได้นะครับ ไม่ยาวแค่ 3 หน้าสั้น ๆ ที่ https://www.royaloffice.th/wp-content/uploads/2018/09/พรบ-ถวายความปลอดภัย.pdf 

แต่คุณเชื่อไหม? ว่ากฎหมายฉบับนี้ก็มีช่องที่ทำให้พวกคนไร้อารยะเห็นช่องในการจะก่อการ เพราะกฎหมายฉบับนี้ไม่มีบทลงโทษใด ๆ ครับ จะเอาผิดไอ้คนพวกนี้ก็ทำได้แค่ ‘กฎหมายจราจร’ เท่านั้น (ซึ่งหลายคนจะพยายามโยงไปที่ ม.112 มันก็ไม่สามารถนะโยม อย่ามั่ว!! เพราะล่าสุดที่พวกมันโดนจับคือคดีเก่าล้วนๆ และเจตนาพวกมันก็ชัดว่าต้องการประทุษร้ายต่อพระบรมวงศานุวงศ์ โดนถอนประกันไม่ใช่เรื่องแปลก และจะโดน ม.116 ก็สมควรได้รับไปครับ) 

ปกติประเทศไทยของเรานี้ ไม่มีใครที่จะกระทำการอันมิบังควรต่อองค์พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ นอกจากไอ้คนประเภทที่เราได้เห็นกันมานี่ล่ะครับ 

จากเหตุการณ์และกฎหมายที่ว่ามา ก็เลยทำให้สภาเดือดครับ เพราะเล็งเห็นแล้วว่ามี ‘คนไม่ปกติ’ อยู่ในสังคมไทยของเรา ทั้งยังกล้าที่จะกระทำการมิบังควรให้เกิดขึ้นโดยไม่มีจิตสำนึก จึงได้มีการผลักดันอย่างเต็มที่เพื่อ ‘เพิ่มโทษ’ และ ‘ลดจุดอ่อน’ พ.ร.บ.การถวายความปลอดภัย พ.ศ. 2560 โดยเป็นโทษหนักต่างกรรมต่างวาระ ทั้งโทษจำคุกสูงสุดถึง 5 ปี และปรับถึง 500,000 บาท ในกรณีที่ก่อเกิดอันตรายต่อร่างกายและชีวิตขององค์พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งข้อนี้ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นเป็นแน่ (ยกเว้นพวกมัน) 

แต่สภาก็ยังคงมีท่านผู้ทรงเกียรติหลายท่าน ‘ขวาง’ ทั้งยังไม่พูดถึงกรณีการละเมิดดังกล่าว แต่เฉไฉไปพูดถึงเรื่องความปลอดภัยและโทษที่ ‘คนไม่ปกติ’ ได้รับ ทั้งยังไปยกเรื่องการปะทะกันของกลุ่มคน โดยไม่สนใจถึงมูลเหตุที่ทำให้เกิดขึ้นเลยแม้แต่นิดเดียว ก็อย่างว่าน่าจะเป็น ‘พรรคพวกเดียวกัน’ หรือไม่ก็คงเป็น ‘คนไม่ปกติ’ เหมือนกัน ไม่แปลกที่ใครจะคิดไปในทางเดียวกันว่าพรรคของพวกท่านนั่นแหละที่อยู่เบื้องหลัง โดยอาจจะเป็นผู้นำจิตวิญญาณของท่านหรือสาวคางทูมเป็นผู้บงการก็ได้ 

อ่านมาถึงตรงนี้ทุกท่านมองว่าเราควรทำอย่างไรกันดี? เมื่อเรามีพวก ‘คนไม่ปกติ’ คิดแต่จะล้มเจ้าอยู่ทุกวัน

รู้จัก ‘เกาเหลา’ วาระแห่งสยาม เมื่อถึงงานเลี้ยงตรุษจีน จริงจังมากถึงขั้นต้องมี ‘เจ้ากรมเกาเหลาจีน’ ดูแลเฉพาะ

เนื่องในเทศกาลตรุษจีน ผมก็เลยอยากจะเล่าเรื่องที่เกี่ยวกับตรุษจีนสักหน่อย แต่เรื่องของงานฉลอง ความเป็นมา การกราบไหว้บรรพบุรุษ เทพเจ้าและสิ่งศักดิ์สิทธิ์คงมีคนเขียนเล่าถึงกันเยอะแล้ว ผมเลยอยากจะขอเล่าเรื่องประกอบเทศกาลที่คนนึกไม่ค่อยถึงอย่างเรื่องของอาหาร โดยเฉพาะเรื่องของ ‘เกาเหลา’ ที่เมื่อกว่าร้อยปีก่อนเคยมี ‘กรมเกาเหลาจีน’ ซึ่งมีเจ้ากรมระดับท่านขุนเลยทีเดียว รวมไปถึงคำว่า ‘เหลา’ ที่เป็นขั้นสุดของอาหารหรูมันมีความเป็นมายังไง 

ย้อนกลับไปในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ เมื่อถึงเทศกาลตรุษจีน กลุ่มเจ้าภาษีนายอากร หรือผู้มั่งมีชาวจีนในกรุงเทพฯ ต่างนำสิ่งของมาทูลเกล้าฯ ถวาย อาทิ ของสด หมู เป็ด ไก่ เป็นจำนวนมาก ล้นเกล้ารัชกาลที่ ๓ ทรงมีพระราชปรารภว่า สิ่งของเหล่านี้ ควรจะได้เป็นไปในทางการกุศล จึงโปรดให้มีงานพระราชกุศลขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว โดยให้มีการเลี้ยงพระสงฆ์ที่พระที่นั่งราชกิจวินิจฉัยวันละ ๓๐ รูป 

นอกจากนี้สิ่งของที่บรรดาชาวจีนนำมาถวายในเทศกาลตรุษจีนแล้ว ยังโปรดให้บรรดาเจ้านายพระราชวงศ์ ท้าวนางในราชสำนัก จัดมาร่วมในเทศกาลตรุษจีนด้วย สิ่งนั้น คือ ‘ขนมจีน’ เนื่องจากชื่อเป็นไปในทางจีน โดยให้จัดมาเป็นเรือขนมจีนเพื่อถวายพระสงฆ์ เมื่อพระสงฆ์ฉันเสร็จแล้วก็ได้เลี้ยงข้าราชการต่อไป

เทศกาลตรุษจีน จึงได้เข้าสู่ราชสำนักนับตั้งแต่รัชกาลที่ ๓ เป็นต้นมา จนเป็นธรรมเนียมที่จะมีการถวายภัตตาหารและเลี้ยงขนมจีนเรื่อยมา 

ครั้นมาถึงสมัยรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ได้ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยและทรงรับสั่งว่า “การที่ทำบุญตรุษจีนเลี้ยงขนมจีนนั้นไม่ใช่ของจีน เป็นแต่สักว่าชื่อเป็นจีน ให้ทำ ‘เกาเหลา’ ที่โรงเรือนยกเข้ามาเลี้ยงพระสงฆ์แทนขนมจีน เป็นของหัวป่าก์ชาวเครื่องทำ...” 

ซึ่งการทำ ‘เกาเหลา’ น่าจะเป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับชาววัง ณ ขณะนั้น เนื่องจากห้องพระเครื่องต้นในวังนั้นมีแต่แม่ครัวอาหารไทย ไม่มีผู้ใดที่สามารถปรุงอาหารอย่างจีนได้ ทั้งเกาเหลาในสมัยนั้นก็ประกอบไปด้วย ‘เครื่องในสัตว์’ ซึ่งถ้าไม่รู้วิธีทำก็จะไม่สะอาดและเหม็นคาว จึงจำเป็นต้องใช้ ‘กุ๊กชาวจีน’ ผู้สันทัดในการนี้ 

ความสำคัญของ ‘เกาเหลา’ ในครั้งนั้น ทำให้เกิดตำแหน่งราชการใหม่ขึ้นในครั้งนั้นคือ ‘เจ้ากรมเกาเหลาจีน’ ซึ่งมีหลักฐานในราชกิจจานุเบกษาครั้งรัชกาลที่ ๔ ว่า...

“...ให้ตั้ง จีนเอ้ง เป็น ขุนราชภัตการ จางวางจีนช่างเกาเหลา พระราชทานให้ถือศักดินา ๕๐๐ ทำราชการตั้งแต่ ณ วันจันทร์ เดือนแปด บุรพาสารทแรมสิบค่ำ ปีมะเมียสัมฤทธิศก...” 

ขุนราชภัตการคนนี้ ต่อมาได้เลื่อนขึ้นเป็น ‘หลวงราชภัตการ’ โดยมีธิดาคนหนึ่งของคุณหลวงท่านนี้ชื่อ ‘เพ็ง’ ได้ถวายตัวทำราชการฝ่ายในเป็นเจ้าจอมอยู่งานในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งต่อมาได้เป็นเจ้าจอมมารดาเนื่องจากมีพระราชธิดาคือ ‘พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้านงคราญอุดมดี’ 

สำหรับคำว่า ‘เกาเหลา’ ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ ได้ให้ความหมายไว้ว่า…

เกาเหลา [-เหฺลา] น. แกงมีลักษณะอย่างแกงจืด. (จ.). จากหนังสือ ‘วันก่อนคืนเก่า’ โดย ส.พลายน้อย ได้อธิบายไว้อย่างน่าสนใจคือ ตามความหมายเดิมของคำว่า ‘เกาเหลา’ (เกาโหลว) แปลว่า ‘ตึกสูง’ คนไทยเราเห็นอาหารชนิดนี้ทำขายในร้านอาหารจีนที่เรียกว่า ‘เหลา’ หรือ ‘เกาเหลา’ จึงได้เรียกแกงจืดที่ทำขายบนเหลาว่า ‘เกาเหลา’ เกาเหลาในยุคเก่าจึงเป็นชื่อเรียกแกงจืดอย่างจีนที่ปรุงด้วยเครื่องในและขายอยู่บน ‘เหลา’ 

ส่วนคำว่า ‘เหลา’ พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ ได้ให้ความหมายไว้ว่า เหลา [เหฺลา] น. ภัตตาคาร. (จ.). และจากหนังสือ ‘วันก่อนคืนเก่า’ โดย ส.พลายน้อย ก็ได้อธิบายไว้ให้เข้าใจง่าย ๆ คือ หอหรือตึก โดยทั่วไปหมายถึงสถานที่จำหน่ายอาหาร พ้องกับความหมายตามพจนานุกรม ในสมัยก่อนก็มักจะได้ยินคนทั่วไปเวลาจะไปหาอาหารหรู ๆ แพง ๆ ทาน ก็มักจะพูดว่า ‘ไปขึ้นเหลา’ หรือ ‘ไปกินเหลา’ ที่พูดแบบนี้เนื่องจากคำว่า ‘ภัตตาคาร’ นั้นยังไม่ปรากฏในช่วงเวลานั้น (สันนิษฐานว่าคำว่า ‘ภัตตาคาร’ น่าจะเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๗ นี้เอง) และร้านค้าที่จำหน่ายอาหารหรู ๆ นั้น ถ้าไม่ใช่ร้านในโรงแรมก็มักจะเป็นร้านอาหารจีนย่านสำเพ็ง, สะพานหัน หรือย่านเยาวราชนั่นเอง ซึ่งน่าตั้งกันมาตั้งแต่สมัยในหลวงรัชกาลที่ ๓ ที่มีชาวจีนทำการค้าขายอยู่ในไทยจำนวนมาก 

โดยมากคนที่ไปขึ้น ‘เหลา’ ก็มักจะเป็นพ่อค้าชาวจีนเพราะชาวไทยในสมัยก่อนไม่นิยม เนื่องจาก ‘อาหารเหลา’ มีราคาค่อนข้างสูงและรสชาติอาจจะไม่ถูกปากมากนัก ซึ่งการ ‘ไปขึ้นเหลา’ ของคนไทยก็เพิ่งจะมานิยมในช่วงหลัง ๆ ไม่ถึงร้อยปีล่วงมานี่เอง แถมถ้าสังเกตให้ดีร้านอาหารจีนเหล่านี้ก็มักจะลงท้ายด้วยคำว่า ‘เหลา’ เช่น ห้อยเทียนเหลา (หยาดฟ้าภัตตาคาร), ก๋ำจั่นเหลา, กี่จั่นเหลา, ปักจันเหลา เป็นต้น หรือถ้าไม่ลงท้ายด้วย ‘เหลา’ ก็มักจะเป็นชื่อแบบจีนไปเลย เช่น พงหลี, โว่วกี่, เม่งฮวด เป็นต้น 

อย่างไรก็ตาม ‘เจ้ากรมเกาเหลาจีน’ นั้น ก็ได้ถูกลดบทบาทไปในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เนื่องจากได้มีคำร้องขอให้จัด ‘เรือขนมจีน’ เหมือนอย่างสมัยรัชกาลที่ ๓ ส่วนผู้ประกอบอาหาร ‘เกาเหลา’ นั้น ล้นเกล้ารัชกาลที่ ๕ ได้ทรงเล่าไว้สั้น ๆ ว่า “...แล้วผู้ทำก็ล้มตายหายจาก กร่อย ๆ ลงก็เลยละลายหายไปเอง...” ซึ่งสันนิษฐานว่า กรมเกาเหลาจีน คงจะค่อย ๆ หมดบทบาทไปในช่วงนี้นี่เอง 

ส่วน ‘เหลา’ นั่นยังคงมีอยู่ถึงปัจจุบันตามที่เราทราบ ๆ กัน และมีการปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัยไปอย่างไม่หยุดยั้ง ส่วน ‘เกาเหลา’ ก็กลายเป็นอาหารที่ไม่มีเส้นดังที่เรารู้จักกันปัจจุบัน แถมยังถูกนำไปเปรียบเทียบกับคนที่ไม่ถูกกันซะอย่างนั้น

ซินเจิ้งหรูอี้ ซินเหนียนฟาไฉ (新正如意 新年发财) คิดหวังสิ่งใดขอให้สมหวัง สมปรารถนาในปีใหม่นี้ มีแต่ความสุขมั่งคั่ง โชคดีร่ำรวยตลอดปีมังกรนะครับ 

สุขสันต์วันตรุษจีน 2567 

‘แผ่นดินของเรา’ (Alexandra) บทเพลงแห่งความรัก โอบอุ้มหัวใจคนไทยให้กลับมารักและโอบกอดประเทศของเรา

เดือนกุมภาพันธ์ เดือนแห่งความรัก เป็นเดือนที่ผมมักจะหลับตาแล้วเห็นสีชมพูหรือไม่ก็สีฟ้าน้ำทะเล สำคัญที่สุดคือจะเป็นเดือนที่มีเสียงเพลงดังในหูและก้องในใจ อย่างไพเราะตลอดทั้งเดือน พร้อม ๆ ไปกับเพลงสำคัญที่ผมมักจะนึกถึงขั้นมาในบัดดล เพราะปลื้มและหลงรักมากเพลงหนึ่งในชีวิตเลยทีเดียว 

อ้อ!! ขอบอกก่อนว่า เพลงนี้ยังเป็นบทเพลงที่ทำให้ตัวผมรู้สึกรักในแผ่นดินไทยของเรามากที่สุดด้วยครับ...ว่าแล้วผมก็ขอนำมาเขียนเล่าให้ท่านๆ ได้อ่านกันเพลิน ๆ 

เพลงสำคัญที่ผมรักมากเพลงนี้ คือเพลง ‘แผ่นดินของเรา’ หรือ ‘Alexandra’ เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 34 ของในหลวงรัชกาลที่ 9 หรือ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ได้ทรงพระราชนิพนธ์เพลงนี้ขึ้น เนื่องในโอกาสที่เจ้าหญิงอเล็กซานดราแห่งเคนต์ สหราชอาณาจักร เสด็จเยือนประเทศไทยในฐานะพระราชอาคันตุกะส่วนพระองค์ในปี พ.ศ. 2502 

เพลงพระราชนิพนธ์เพลงนี้มีความอัศจรรย์ในหลาย ๆ ด้าน อาทิ ช่วงเวลาแห่งการประพันธ์เพลง ท่วงทำนองที่เกิดขึ้น พร้อมด้วยเนื้อหาทั้งไทยและอังกฤษ เมื่อทุกความอัศจรรย์มาประกอบกัน ทำให้เพลงนี้มีเสน่ห์ ไพเราะ ลึกซึ้ง เหนือกาลเวลา 

สำหรับผมเพลงพระราชนิพนธ์เพลงนี้ เป็นเพลงที่ผมตกหลุมรักและฟังได้ไม้รู้จักเบื่อตั้งแต่โน้ตตัวแรกไปจนถึงตัวสุดท้าย  

ทีนี้ขอมาเริ่มต้นความอัศจรรย์ของเพลงนี้ ด้วยเรื่องราวของ ช่วง ‘เวลา’ ของการประพันธ์เพลง ซึ่งหลายๆ ท่านคงได้ทราบกันแล้วว่าเพลงพระราชนิพนธ์เพลงนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาแห่งการ ‘รอเครื่องบินลง’ โดยเมื่อครั้งในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเสด็จฯ ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง เพื่อไปรับเจ้าหญิงอเล็กซานดราด้วยพระองค์เองนั้น ในช่วงเวลาที่ทรงรอเครื่องบินลงจอดที่ท่าอากาศยานราวๆ 10 นาที (อาจจะหย่อนไปกว่านี้เล็กน้อย) ทำนองเพลงจำนวน 16 ห้องเพื่อใช้ต้อนรับพระราชอาคันตุกะอันลุ่มลึกเพลงนี้ก็เกิดขึ้น...ซึ่งนี่คือเรื่องน่าเหลือเชื่อลำดับแรกของเพลงนี้ 

ความอัศจรรย์ต่อมาคือ ท่วงทำนองของบทเพลง โดยส่วนตัวผมไม่ได้มีความเชี่ยวชาญในทางดนตรีอะไรนักหนา แต่ด้วยความเป็นนักฟัง ซึ่งพอจะมีความรู้ที่เกิดจากการฟังเป็นใหญ่ เมื่อฟังแล้วจึงรู้สึกได้ว่าคอร์ดตั้งต้นนั้นช่างดูง่าย ฟังง่าย แต่พอฟังลึก ๆ แล้ว จะมีความยากของการเดินคอร์ดอยู่ค่อนข้างมาก 

เอาจริง ๆ !! ใครเป็นนักดนตรีต้องทำการบ้านกับเพลงนี้ค่อนข้างเยอะ โดยเฉพาะฮาร์โมนีของคอร์ด ซึ่งเป็นโน้ตที่ยาก เพราะบางครั้งห่างกันแค่ครึ่งเสียง บางครั้งห่างกันแค่นิดเดียวแบบนิดเดียวจริง ๆ 

‘แผ่นดินของเรา’ หรือ ‘Alexandra’ ไม่ใช่เพลงที่มีความหนัก เบา แบบขาดจากกัน แต่มีความเกาะเกี่ยวยึดโยงในแต่ละโน้ต เพื่อให้เพลงพาผู้ฟังไปในหลาย ๆ มิติ ไม่ใช่เพลงที่แค่แต่งมาแล้ว ‘เพราะ’ เฉย ๆ แต่เป็นเพลงที่ ‘เพราะจนถึงอารมณ์’ ซึ่งแสดงถึงความสามารถของคนแต่ง ที่ต้องบอกว่าเก่งแบบสุด ๆ นี่แหละพระอัจฉริยภาพทางด้านดนตรีของในหลวงรัชกาลที่ 9 

ต่อกันที่ อัศจรรย์แห่งเนื้อเพลง เมื่อในหลวง ร.9 ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองเพลง ‘แผ่นดินของเรา’ หรือ ‘Alexandra’ ตามทำนองที่ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ 16 ห้องเพลง เป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ประพันธ์คำร้องภาษาอังกฤษ 

มรว.เสนีย์ ปราโมช ขึ้นชื่อว่าเป็นบุคคลที่เก่งในเรื่องภาษา สามารถแต่งโคลงกลอนได้คล่องแคล่วทั้งภาษาอังกฤษและไทยได้รับสนองพระบรมราชโองการ ด้วยการเขียนเนื้อเพลงเบื้องต้นทูลเกล้าฯ ถวาย ก่อนที่เครื่องบินพระที่นั่งของเจ้าหญิง จะลงจอดได้อย่างเหลือเชื่อเช่นเดียวกัน โดยเนื้อเพลงภาษาอังกฤษมีดังนี้... 

Alexandra
Welcome to thee
Here in this land of sunshine and of flowers.
May ye be blessed by the blessing.
That has made our country happy.

แปลโดยรวมก็คือ “เราขอต้อนรับเจ้าหญิงอเล็กซานดราสู่เมืองไทย แผ่นดินแห่งแส่งพระอาทิตย์อันอบอุ่นและเต็มไปด้วยดอกไม้อันสวยงาม เมื่อมาถึง ณ ที่แห่งนี้แล้วก็ขอให้ทุกพรอันประเสริฐจงมีแด่ท่าน ซึ่งนั่นทำให้ประเทศของพวกเรามีความสุข (แปลโดยผู้เขียน) ซึ่งก็เป็นเนื้อเพลงสั้น ๆ แต่เปี่ยมไปด้วยมิตรไมตรี ทั้งยังแสดงถึงความเป็นประเทศไทยที่มีรอยยิ้มไว้ต้อนรับมิตรจากต่างแดนอย่างอบอุ่นราวกับแสงพระอาทิตย์ยามเช้า เพราะนี่คือประเทศไทยดินแดนแห่งความสุขของคนไทย”

ทีนี้มาถึงเนื้อเพลงไทยกันบ้าง แต่ผมต้องขอเล่าย้อนก่อนว่า เนื้อเพลงเวอร์ชันภาษาไทยนั้นเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2516 ซึ่งสภาพแวดล้อมทางการเมืองทั้งในและนอกประเทศไทยนั้นเต็มไปด้วยความหวาดระแวง ในประเทศก็กลัวในเรื่องของเผด็จการ เรื่องของคอมมิวนิสต์ ประหัตประหารกัน ภายนอกประเทศก็ระแวดระวังภัยจากสงครามความเชื่อจากรอบด้าน ทั้งยังมีบางส่วนที่เข้ามาประชิดติดชายแดนไทย ด้วยเหตุนี้ การสร้างขวัญ กำลังใจและความสามัคคีให้เกิดขึ้นกับคนในชาติ ซึ่งการใช้บทเพลงที่มีเนื้อหาหลอมรวมใจให้คนไทยได้ภูมิใจและรักแผ่นดินของตนเองจึงเป็นเครื่องมือที่มีนัยยะสำคัญเป็นอย่างยิ่ง 

จากเหตุดังกล่าว สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงมีพระราชดำริว่า ท่วงทำนองเพลงพระราชนิพนธ์ Alexandra ไพเราะ และน่าจะใส่คำร้องภาษาไทยได้ จึงได้กราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระบรมราชานุญาตให้ท่านผู้หญิง มณีรัตน์ บุนนาค ประพันธ์คำร้องภาษาไทย ซึ่งในหลวง ร.9 ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาต ทั้งยังทรงพระราชนิพนธ์เพิ่มเติมจากเดิมที่มีเพียง 16 ห้องเพลง โดยเพิ่มท่อนกลาง และท่อนท้าย จนครบ 32 ห้องเพลง 

อนึ่ง ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค เป็นอีกหนึ่งท่านที่มีความสามารถในเชิงการประพันธ์ค่อนข้างสูง โดยท่านได้ประพันธ์คำร้องภาษาไทยของเพลงพระราชนิพนธ์ไว้หลายบทเพลง อาทิ ความฝันอันสูงสุด เกาะในฝัน ไร้เดือน และเพลงแผ่นดินของเรานี้ ท่านก็สะท้อนภาพบ้านเมืองของเราออกมาได้อย่างดีเยี่ยม ทั้งยังไม่ทิ้งเนื้อในเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษ ทั้งยังนำมาขยายความได้อย่างสวยงาม ดังนี้...

ถึงอยู่แคว้นใด ไม่สุขสำราญ เหมือนอยู่บ้านเรา ชื่นฉ่ำค่ำเช้าสุขทวี
ทรัพย์จากผืนดิน สินจากนที มีสิทธิ์เสรี สันติครองเมือง
เรามีป่าไม้อยู่สมบูรณ์ ไร่นาสดใสใต้ฟ้าเรือง
โบราณสถานส่งนามประเทือง เกียรติเมืองไทยขจรไปทั่วแดนไกล
รักชาติของเรา ไว้เถิดผองไทย ผืนแผ่นแหลมทอง รวมพี่รวมน้องด้วยกัน
รักเกียรติรักวงศ์ เสริมส่งสัมพันธ์ ทูนเทิดเมืองไทยนั้น ให้ยืนยง

ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ท่านได้เขียนเรื่องราวของเพลงนี้ไว้ใน www.rspg.org ความว่า...

“กี่ปีมาแล้วที่ความนึกคิดนี้ถ่ายทอดออกมาเป็นบทกลอน ข้าพเจ้าอยากระบายความรู้สึกให้เป็นที่รู้กันว่า ความบันดาลใจในเรื่องนี้มีที่มาจากการสังเกตของข้าพเจ้า ได้รู้เห็นพระราชอัธยาศัย พระราชจริยาวัตร ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประพฤติปฏิบัติ อยู่ทุกเมื่อเชื่อวันไม่เสื่อมคลาย”

“สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ โปรดให้พิมพ์บทกลอนนี้ลงในกระดาษการ์ดแผ่นเล็ก ๆ พระราชทานข้าราชการ ทหาร พลเรือน และผู้ทำงานเพื่อประเทศชาติ เตือนสติมิให้ท้อถอยในการทำความดี เพราะบ้านเมืองขณะนั้นยุ่งอลเวง น่าเป็นห่วงอนาคตของประเทศชาติ” 

มาถึงวันนี้ในห้วงเดือนแห่งความรัก เพลง ‘แผ่นดินของเรา’ หรือ ‘Alexandra’ ช่วยเติมเต็มความรักของคนไทยอย่างผมให้นึกถึงความงดงามและน่าภาคภูมิใจของประเทศไทยของเรา จึงไม่แปลกใจที่ใครต่อใครก็อยากจะเข้ามาเยี่ยมเยียนประเทศของเรา ไม่แปลกใจที่คนที่จากบ้านเกิดเมืองนอนไปไกลหลายต่อหลายคนก็อยากกลับมาแผ่นดินแห่งนี้ 

ผมอยากชวนให้เรามากอดประเทศไทยด้วยความรัก พร้อมกับฟังเพลงพระราชนิพนธ์ที่ผมรักมากๆ เพลงนี้ มาภูมิใจที่เราได้เกิดและอยู่ในประเทศไทย แผ่นดินที่งดงามและอุดมสมบูรณ์ไม่แพ้แผ่นดินไหนๆ แผ่นดินที่มีพระมหากษัตริย์ที่ทรงรักและเมตตาประชาชนของพระองค์เป็นอย่างยิ่ง 

แผ่นดินที่เราเรียกว่าบ้าน ‘แผ่นดินของเรา’ ครับ


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top